“หมอประดิษฐ” เร่งรัดทุกหน่วยงาน สธ.ใช้งบประมาณตามเป้า คาด กลางเดือนหน้าโอนเงินได้ พร้อมเพิ่มความปลอดภัยการจัดบริการฉุกเฉิน ส่วนใน กทม.ผุดไอเดียใช้มอเตอร์ไซค์กู้ชีพเข้าพื้นที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยก่อนรถพยาบาลมาถึง
วันนี้ (28 ม.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อติดตามความคืบหน้าทางนโยบายและโครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 รวมทั้งการติดตามเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริการและติดตามผลรายงานตัวชี้วัดของ สธ. ว่า การประชุมวันนี้ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานใช้งบประมาณลงทุนตามที่กำหนดคือ ร้อยละ 25 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรต่อไตรมาส โดยเฉพาะงบประมาณลงทุนสิ่งก่อสร้างอาคารบริการของแต่ละกรมให้เป็นไปตามเป้าหมายของปีงบประมาณ 2556 ขณะนี้มีโรงพยาบาลบางแห่งที่ดำเนินการล่าช้า ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดบริการให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด สำหรับเงินกู้เพื่อพัฒนาแผนการพัฒนาระบบบริการ วงเงินประมาณ 3,270 ล้านบาท คาดว่า ในวันนี้จะกรอกข้อมูลให้สำนักงบประมาณแล้วเสร็จ และจะจัดโอนเงินภายใน 15 วัน สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเครื่องมือแพทย์บางรายการที่จัดซื้ออาจไม่มีผู้ใช้ เนื่องจากแพทย์ย้ายโรงพยาบาลนั้น มั่นใจว่า ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวจะนำไปใช้ในโรงพยาบาลที่อยู่ในพวงบริการเดียวกันได้ ตามแผนบริการทั้ง 12 เขตบริการ การซื้อครั้งนี้เป็นไปตามการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการ ซึ่งเป็นผู้บริหารเขตบริการตรวจสอบรายการเครื่องมือแพทย์ตามแผนการจัดบริการโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริง ไม่มีการยัดเยียดสั่งซื้อจากส่วนกลางอย่างเด็ดขาด
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าห่วงขณะนี้ คือ กรณีการจัดบริการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยในภาวะฉุกเฉิน จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่พยาบาลเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บที่จังหวัดศรีสะเกษ สธ.ได้เร่งแก้ปัญหา ลดการสูญเสีย โดยเพิ่มอุปกรณ์นิรภัยภายในรถ เช่น การติดเข็มขัดนิรภัยชนิดพิเศษ การควบคุมมาตรฐานพนักงานขับรถ ซึ่งต้องใช้ความเร็วและความปลอดภัยสูงสุด คาดว่าจะจัดทำมาตรการแล้วเสร็จภายใน มี.ค.2556 เพื่อประกาศใช้ทั่วประเทศ และอีกเรื่องคือ การปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.ซึ่งสภาพการจราจรติดขัดมาก รถพยายาลเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ยากและมีพื้นที่ตรอกซอกซอยมาก จึงมีแนวคิดจะพัฒนาหน่วยมอเตอร์ไซค์คู่ชีพ เพื่อเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างคล่องตัว สามารถเข้าไปช่วยชีวิตผู้ป่วยก่อน ระหว่างรอรถพยาบาลฉุกเฉินเข้าไปถึง โดยอาจดึงตำรวจเข้ามาชวยด้วย ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ดำเนินการจัดเป็นโครงการนำร่อง มั่นใจว่า จะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยและนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น