กรมศิลป์ ชงเจาะอุโมงค์ภูเขากลางอุทยานศรีสัชฯมรดกโลก ลดผลกระทบรถยนต์แล่นผ่านโบราณสถาน-ฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า-จับตาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงรุกเข้าอุทยานฯ กำแพงเพชรเอาใจอิโคทัวร์
นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยนายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโบราณสถานมรดกโลกในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร โดยเอาโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาอุทยานฯ ทั้ง 3 แห่งที่ทำก่อนหน้านี้มาดูความเป็นไปได้มาต่อยอดพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง และปัญหาเรื่องของผลกระทบต่อภูมิทัศน์มรดกโลกเพื่อที่จะหาทิศทางแก้ไข ที่ขณะนี้สำนักศิลปากรที่ 6 พบว่าในพื้นที่จะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงผ่านเข้าอุทยานฯ กำแพงเพชร เพื่อการท่องเที่ยวในรูปอิโคทัวร์หรือขี่จักรยาน ซึ่งการสร้างสะพานดังกล่าวเกรงว่าจะส่งผลกระทบภูมิทัศน์โบราณสถานรอบๆ นอกจากนี้ ปัญหาถนนในเขตอรัญญิกของอุทยานฯ มีขนาดกว้างเกินจำเป็น ตนเห็นว่าควรจะลดถนนให้แคบลง ไม่ให้รถยนต์วิ่งผ่านไปมามาก เพราะแรงสั่นสะเทือนของรถส่งผลกระทบต่อโบราณสถานได้ ทั้งนี้ จะรายงานกรมศิลปากร
นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ปัญหาของรถยนต์วิ่งผ่านอุทยานฯ ส่งผลกระทบต่อโบราณสถานและภูมิทัศน์ เช่นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรมปี 2534 ได้มีการสร้างถนนตัดสันภูเขาวัดเขาสุวรรณคีรี เพื่อที่ให้รถยนต์ใช้สัญจรข้ามไปอีกฟากหนึ่งของกำแพงเมือง ซึ่งภูเขาลูกนี้มีขนาดย่อมตั้งอยู่กลางเมืองโบราณทางด้านทิศตะวันตก บนยอดเขามีกลุ่มของโบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เจดีย์ประธานทรงกลมองค์ระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ที่สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงสร้างไว้ ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 และภูเขาลูกนี้แสดงสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล หรือวัดกลางเมืองศรีสัชฯ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เมื่อมีการสร้างถนนขึ้นส่งผลกระทบให้ภูมิทัศน์รอบๆ โบราณสถานได้รับความเสียหาย
“ตามแผนแม่บทอุทยานฯ ศรีสัชนาลัยปี 2530- 2539 ได้มีเสนอให้ปรับสภาพทางหลวงในพื้นที่นี้ให้กลับสู่สภาพเดิม และเสนอให้สร้างอุโมงค์ลอดสันเขาแทน มีระยะทางยาวประมาณ 50-100 เมตร เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพภูมิทัศน์ป่าโบราณคืนกลับมา ทั้งนี้กรมศิลปากรจะเสนอต่อ รมว.วัฒนธรรมว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ที่จะสร้างอุโมงค์ รวมทั้งแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารฉบับใหม่ปี 2548 ได้ว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการจัดทำ วางแผนผังเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ก่อนที่จะมีการประชุม ครม.ในเดือนมีนาคม จ.กำแพงเพชร” นายเอนก กล่าว