นครศรีธรรมราช - ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุ รอยคราบสนิมบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จะต้องใช้เงินกว่า 1 ล้านบาท เพื่อสร้างนั่งร้านขึ้นไปสำรวจว่าความเสียหายว่าเกิดจากสาเหตุใด พร้อมเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญบริจาคเงินสมทบทุน
กรณีปลียอดทองคำขององค์พระธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชชำรุด มีคราบคล้ายสนิมไหลเป็นทางยาวบนแนวปล้องไฉนเหนือองค์ระฆังคว่ำ หลังมีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 โดยหลังจากเกิดสนิมดังกล่าว นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายอาณัฐ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร 14 ได้สั่งการให้หัวหน้าส่วนอนุรักษ์โบราณสถานเข้าตรวจสอบโดยใช้กล้องสำรวจทีโอโดไลท์ พร้อมเสนอเรื่องด่วนไปยังกรมศิลปากรให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกรมศิลปากรชุดใหญ่ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญหลายด้านพิจารณา
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า รอยคราบสนิมใต้กลีบบัวคว่ำบัวหงายของพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทางช่างของกองช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้ส่องกล้องทางไกลสำรวจแล้วยืนยันว่า เกิดการชำรุดที่บัวคว่ำบัวหงาย ต้องสร้างนั่งร้านขึ้นไปสำรวจอย่างละเอียดเพื่อหาข้อสรุป หากเกิดความเสียหายน้อย การนำอุปกรณ์ลงมาล้างแล้วขัดด้วยสารเคมีจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ แต่หากต้องซ่อมใหญ่จะต้องสร้างบัวคว่ำบัวหงายใหม่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จะต้องกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ และจะบอกบุญเชิญชวนชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันบูรณะ
“สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เสนอของบประมาณ 1,300,000 บาท เพื่อสร้างนั่งร้านขึ้นไปตรวจสอบ จังหวัดนครศรีธรรมราชจะใช้รายได้จากการจำหน่ายเหรียญพระธาตุสู่มรดกโลก ที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้ว เหรียญทองแดงราคา 99 บาท เหรียญลงยาราคา 299 บาท และเหรียญเงิน ราคา 1,999 บาท มาเป็นทุนในการก่อสร้างนั่งร้าน และขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาเช่าบูชา ติดต่อได้ที่กองประชาสัมพันธ์ งานผลประโยชน์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือร่วมบริจาคกับตู้รับบริจาคกองทุนพระธาตุสู่มรดกโลก ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าว
สำหรับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนั้น มีความสำคัญระดับชาติ หรือระดับโลก ซึ่งได้มีการเสนอศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกพิจารณาเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative Lists) เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และศูนย์มรดกโลกได้ประกาศชื่อวัดพระมหาธาตุฯ เข้าสู่บัญชีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการของจังหวัดจะจัดทำรายละเอียดข้อมูลในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว หรือแอนิเมชัน นำเสนอคุณสมบัติต่างๆ ความโดดเด่นวัดพระมหาธาตุฯ ให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เพื่อส่งไปยังศูนย์ฯ เข้าไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายการพิจารณา และจะบรรจุเข้าการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 38 ระหว่างปี 2557-2558 เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป