xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “เซอร์ไมเคิล-ดร.อูเซ” ผู้ได้รับรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดใจ “เซอร์ไมเคิล-ดร.อูเซ” ผู้ได้รับรางวัลพระราชทาน “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” แนะประยุกต์ NICE และ Community-Directed Treatment ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะได้ให้การต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้แก่ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (National Institute for Health and Clinical Excellence:NICE) ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์ จากสหราชอาณาจักร และ ดร.อูเซ เวโรนิกา อะมาซิโก อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟริกา (African Programme for Onchocerciasis Control : APOC) รับรางวัลสาขาการสาธารณสุข จากประเทศไนจีเรีย ซึ่งเดินทางมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะหน่วยงานที่ริเริ่มรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมวางพวงมาลาถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนำแจกันดอกไม้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ โดย เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากจะเป็นอาจารย์ ยังทำวิจัยต่างๆ แต่สิ่งที่อึดอัดมาตลอด คือ แม้จะมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการนำไปใช้อย่างเต็มที่ จึงก่อตั้งสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือ ไนซ์ (NICE) ตั้งแต่ปี 2542 ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งการจัดทำคู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ในการตัดสินจัดสรรทรัพยากร และงบประมาณในการรักษาและป้องกันโรคอย่างเหมาะสม มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ที่สำคัญยังทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะยาที่ผลิตขึ้นจากบริษัทยา ซึ่งต้องมีการประเมินว่าหากนำเข้ามาใช้จริงจะมีความคุ้มค่าในแง่งบประมาณ และประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงหรือไม่ อย่างไร

เซอร์ไมเคิล กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมา มีบริษัทยารายหนึ่ง นำเข้ายาตัวหนึ่งที่มีราคาแพง ซึ่ง ไนซ์ ได้ทำการวิเคราะห์พบว่า ไม่มีความคุ้มค่า บริษัทยาจึงรุดเข้าพบ โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ ซึ่งสุดท้ายอดีตผู้นำฯได้ชี้ขาดว่า ไนซ์ ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการประเมินความคุ้มค่าทั้งแง่งบประมาณและประโยชน์ของประชาชน จึงควรยืนตามนั้น อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้ก่อให้เกิดการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี มาตรฐานคุณภาพอย่างดีเลิศ เหมาะสม และคุ้มค่าทั่วทั้งสหราชอาณาจักร และมีการนำไปเผยแพร่เป็นแม่แบบ และประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเทศไทย โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ ไฮแท็ป (HITAP) ที่มี นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งใช้ไนซ์เป็นแบบในการทำงาน โดยเน้นการวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบต่างๆ ด้านสุขภาพ รวมไปถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรกับรางวัลพระราชทานที่ได้รับ เซอร์ไมเคิล กล่าวว่า ช่วงแรกไม่มั่นใจว่า ได้รับรางวัลพระราชทานนี้จริงๆ ซึ่งรู้สึกดีใจมากที่ได้รับเลือกครั้งนี้ โดยประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร มีระบบกษัตริย์ที่เข้มแข็ง โดยทั้ง 2 พระองค์เป็นที่รักนับถือของประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งครองราชย์มาเนิ่นนานเช่นเดียวกัน

ผมจงรักภักดีกับสมเด็จพระราชินี ขณะเดียวกัน ก็ชื่นชมการครองราชย์ที่เหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเชื่อว่าคนไทยก็คิดเช่นเดียวกัน” เซอร์ไมเคิล กล่าว

ดร.อูเซ กล่าวว่า ไม่คาดว่าจะได้รับการติดต่อให้ได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะการดำเนินงานด้านการสาธารณสุขของตนนั้นไม่ได้หวังผลรางวัลใด แต่ตนมุ่งเน้นเพียงให้ชุมชนต่างๆ ในทวีปแอฟริกา สามารถเข้าถึงยาและเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากที่ผ่านมาคนแอฟริกันเป็นโรคตาบอดจากพยาธิเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรคดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอทุกปี แต่จากการคมนาคมที่ไม่สะดวกทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง เมื่อตนได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา ในปี 2548 จึงหาหนทางพัฒนาการกระจายยา โดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการรักษา (Community-Directed Treatment) คือ ให้ชุมชนเป็นผู้กระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิเอง โดยอาสาสมัครในชุมชน ในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการควบคุมโรคอย่างชัดเจนและมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์

“การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพในชุมชน ส่งผลให้อุบัติการณ์จากโรคลดลงอย่างมาก ประมาณการว่าภายในปี 2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า 40,000 ราย ซึ่งความสำเร็จตรงนี้เกิดจากการเชื่อมโยงงานวิจัยและระบบการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นบทบาทของชุมชนเป็นสำคัญ” ดร.อูเซ กล่าว

ดร.อูเซ กล่าวอีกว่า การที่ตนได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นเพราะมีการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) 16 ประเทศ และชุมชน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่าย ไม่สามารถดำเนินการเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ สำหรับประเทศไทย ยอมรับว่ามีระบบบริการดูแลสุขภาพที่ดี มีประสิทธิภาพ และน่าศึกษา แต่มีความแตกต่าง คือ ไทยจะผลิตบุคลากรออกไปแก้ปัญหาสาธารณสุขในชุมชน แต่ของตนจะนำอาสาสมัครจากชุมชนมาอบรมกับหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐ เพื่อกลับลงไปดูแลชุมชน หากไทยสามารถนำ Community-Directed Treatment มาประยุกต์หรือผสมผสานกับการดำเนินงานเดิมของไทยที่มีอยู่ เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ชุมชนเข้าถึงการบริการรักษาและยาได้มากขึ้น เนื่องจากคนในชุมชนจะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมและความเป็นอยู่มากกว่า มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้การดำเนินงานคล่องตัว

ขอขอบคุณรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลที่ช่วยให้ตนได้นำพาครอบครัวมายังประเทศไทย เพราะจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้รู้สึกผิดต่อลูกชาย เพราะต้องทิ้งลูกไว้ที่บ้านตลอดเมื่อต้องเข้าไปทำงานด้านสาธารณสุขในชุมชน และขอขอบคุณสามีที่ให้โอกาสตนได้ไปทำประโยชน์ต่อสาธารณชน ที่สำคัญ ตนรู้สึกยินดีมากที่ได้รับรางวัลพระราชทานดังกล่าว ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน (Long Live The King)
ทั้งนี้ สำหรับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลในวันที่ 30 มกราคมนี้ เวลา 16.30 น.ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นเวลา 19.00 น.พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
กำลังโหลดความคิดเห็น