xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายต้านเหล้า” ยื่นชื่อ 219 องค์กร จี้ถอนเหล้า-บุหรี่ออกจากเอฟทีเอไทย-อียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เครือข่ายต้านเหล้า” บุกรัฐสภา ยื่นรายชื่อ 219 องค์กร จี้ถอนบัญชีเหล้า-บุหรี่ ออกจากกรอบเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู หลังพบพิรุธ ก.พาณิชย์ จัดพิธีกรรมแหกตาประชาชน เผยหมดความชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วมแท้จริง

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ กว่า 100 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ถอนบัญชีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ออกจากกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ลานประหาร ซาตาน EU + กระทรวงพาณิชย์” เพื่อสื่อถึงการคัดค้านเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้มารับเรื่องแทน

นายชูวิทย์ กล่าวว่า เนื่องจากทราบว่า ในวันนี้รัฐสภาได้บรรจุร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องการย้ำจุดยืน ให้ถอดบัญชีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ออกจากการเจรจาฯ เพราะเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ไม่ใช่สินค้าธรรมดา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผลาญเศรษฐกิจ ทำลายสังคม ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะตามมาอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการดำเนินงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ยังขาดความชอบธรรม มีพิรุธ เช่น เร่งรีบเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างกระชั้นชิด ไม่ให้มีการตั้งตัว จึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ในเวลาต่อมาได้นำไปสู่การเสนอให้ยกเลิกมติ คณะรัฐมนตรี ที่ให้การรับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ ว่าด้วยการปกป้องความเข้มแข็งนโยบายแอลกอฮอล์ จากผลกระทบข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่มติ ครม.ดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป และล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ มีการจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยภาคประชาชนได้เข้าร่วมเพื่อแสดงจุดยืนประกอบกับการยื่นหนังสือไว้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่คล้อยหลังเพียง 3 วัน เรื่องนี้ก็ถูกบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอย่างมีเงื่อนงำ เครือข่ายฯ จึงไม่มีความมั่นใจว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา

นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว จึงขอแสดงจุดยืนต่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ 1.ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 219 องค์กร ขอคัดค้านการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในบัญชี การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย กับ สหภาพยุโรป และขอให้ถอนบัญชีสิ้นค้าดังกล่าวออกจากกรอบการเจรจา 2.ภาคีเครือข่ายขอประณามความฉ้อฉลของกระทรวงพาณิชย์และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่มีเจตนาหลอกลวงประชาชน โดยมิได้นำข้อเสนอให้ถอนบัญชีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกจากกรอบการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทยกับสหภาพยุโรป และให้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง และข้อ 3.ขอให้ที่ประชุมรัฐสภา ทบทวนการพิจารณาร่างกรอบเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย กับ สหภาพยุโรป ออกไปจนกว่ารัฐบาลจะกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะตามมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยควรพิจารณาให้มีการออกมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การขึ้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงค่าปรับจากการขายโดยไม่มีใบอนุญาต และการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง

หวังว่า การประชุมรัฐสภาในวันนี้ จะไม่ดำเนินการใดๆที่ขัดต่อเสียงคัดค้านหรือเจตนารมณ์ของประชาชน และซ้ำเติมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤตด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากสุรามากถึง 26,000 รายต่อปี ทั้งนี้ การเป็นทุนใหญ่ข้ามชาติ ย่อมมีศักยภาพสูงในการทำตลาด โอกาสที่น้ำเมาจากอียูจะเติบโตเป็นสิบเท่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผลกระทบจะตกกับประชาชนคนไทย และที่สำคัญมาตรการ กฎหมายต่างๆ อาจถูกฟ้องร้องให้มีการยกเลิกไปจากตลอดจนการออกมาตรการใหม่ในการควบคุมสินค้านี้ทำได้ยากขึ้นในอนาคต” เลขาฯ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น