xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง สสจ.9 จังหวัด เฝ้าระวัง “หมอกควัน” เตือน 7 กลุ่มเสี่ยงระวัง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” สั่ง สคร.9-10 และ สสจ.9 จังหวัดภาคเหนือ เฝ้าระวัง ปชช.เจ็บป่วยจากหมอกควันช่วง ม.ค.-เม.ย.56 เน้น 4 กลุ่มโรคสำคัญ เตือน 7 กลุ่มเสี่ยงป่วยง่ายกว่าคนทั่วไป เผย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วย พร้อมให้ อสม.รณรงค์ประชาชนงดเผาป่า เผาหญ้า/วัชพืช หรือขยะ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในปี 2556 ช่วงเดือนมกราคม- เมษายน ว่า สธ.ได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 และ 10 เตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยได้ประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และ ตาก เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ไปพร้อมๆ กันกับการแก้ไขปัญหาจากภัยหนาวอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ได้สั่งการโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ยาประจำห้องฉุกเฉินต่างๆ ให้มีความพร้อม 100% เพื่อให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที โดยแต่ละพื้นที่ต้องเตรียมทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทันทีเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับหมอกควัน เพื่อดำเนินการควบคุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดผลกระทบเร็วที่สุด และขอความร่วมมือ อสม.รณรงค์ประชาชนในหมู่บ้านงดเผาป่า เผาหญ้า/วัชพืช หรือขยะ เพื่อลดมลพิษในอากาศ

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในโรงพยาบาล 22 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2555 - 5 มกราคม 2556 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวน 17,219 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวตามปกติ ยังไม่พบความผิดปกติจากปัญหาหมอกควัน

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า มลพิษจากหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่า เผาขยะ เผาวัชพืช จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพใน 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 2.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 3.กลุ่มโรคตาอักเสบ และ 4.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โดยผลกระทบต่อสุขภาพจะขึ้นกับระยะเวลาการสัมผัส อายุ ความต้านทานแต่ละบุคคล ความเข้มข้นของมลพิษ ประวัติการป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจและอื่นๆ อาการที่ปรากฏเริ่มตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยจนถึงรุนแรง ได้แก่ แสบตา ตาแดง น้ำตาไหล คอแห้ง ระคายคอ ไอ หายใจติดขัด เหนื่อยง่าย และแน่นหน้าอก

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วๆไป มี 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเด็ก 2.หญิงตั้งครรภ์ 3.ผู้สูงอายุ 4.ผู้ป่วยโรคหอบหืด 5.ผู้ป่วยโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง 6.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และ 7.ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยงนี้ควรสังเกตอาการของตนเองและสำรองยาให้เพียงพอ จำกัดเวลาในการออกกำลังกายหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรง เมื่อเริ่มมีอาการให้รีบปรึกษาแพทย์ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูดละอองหมอกควัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานคือเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อลดการสัมผัสกับฝุ่น หรือมลพิษจากหมอกควัน ป้องกันการสูดละอองหมอกควันเข้าปอด หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น