ศาลาว่าการ กทม.รับสมัครผู้ว่าฯ กทม.วันสุดท้าย คึกคัก มีผู้สมัครจำนวน 7 คน
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย ว่า ตั้งแต่่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีผู้มาสมัครเพิ่มเติมอีก 1 ราย คือ นายสุขุม วงประสิทธิ อายุ 44 ปี การศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาเอก สาขาสันติภาพโลก มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก สมัครในนามพรรคยางพาราไทย เดินทางมาลงทะเบียน เมื่อเวลา 09.11 น.โดยได้ยื่นเอกสาร ใบสมัครให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบครบถ้วน จึงได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหมายเลขคนล่าสุด หมายเลข 19
นายสุขุม กล่าวว่า หลังจากนี้ จะลงพื้นที่ประกาศนโยบายเร่งด่วนเฉพาะกรุงเทพฯ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การแยกธนบุรีออกจากกรุงเทพมหานคร เพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเข้าถึง 2.การแก้ไขปัญหาจราจร และ 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ซึ่งในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยที่จะดำเนินการ อาทิ การเสนอโอนย้ายข้าราชการทหารมาเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้ง 50 เขต เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ การสร้างห้องสุขาเพิ่มเติมกว่า 10,000 แห่งทั่วกทม. การสนับสนุนให้ประชาชนปลูกปาล์มน้ำมัน การส่งเสริมให้ กทม.เป็นเมือง 3 ภาษา รองรับประชาคมอาเซียน และการย้ายสถานที่ราชการสำคัญออกไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหารถติด
ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม คาดว่า ในช่วงบ่ายอาจจะมีผู้มาสมัครเพิ่มเติม เนื่องจากต้องการหมายเลขสุดท้ายใช้หาเสียงเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ จึงทำให้จนถึงขณะนี้มียอดผู้มาสมัครแล้วจำนวนรวม 19 คน
เมื่อเวลา 12.15 น. นายกฤษณ์ สุริยผล ได้หอบถุงเงินเหรียญมาลงทะเบียนเวลารับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามกลุ่มรักกรุงเทพฯ โดยได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร คือ หมายเลข 20
นายกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ คือ “3 ส 1 ป” หมายถึง สะดวกสบาย ต่อขยายรถไฟฟ้าทั่วสี่มุมเมือง จราจรไม่ติดขัด, สะอาด สะอ้าน ขยะเก็บทุกวัน ท่อน้ำไม่อุดตัน น้ำไม่ท้วมขัง, สว่างไสว ติดตั้งไฟฟ้าทุกซอก ตรอก ซอย (หมู่บ้าน), โปร่งใส ปลอดภัย คือ หยุดคอร์รัปชัน ปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง
นายกฤษณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่าตนเองจะเป็นทางเลือกให้กับคนกรุงเทพฯ เชื่อว่า คนกทม.จะเบื่อพรรคการเมืองใหญ่ๆ โดยแนวทางในการหาเสียงจะใช้วิธีการเดินลงชุมชนเริ่มที่เขตบางขุนเทียน และค่ำไหนจะนอนนั้นเพื่อให้เข้าถึงประชาชนแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญถ้าตนเองได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะให้ประชาชนมีส่วนในการบริหารงานกทม.กระจายอำนาจสู่เขตต่างๆ ให้ผอ.เขตเป็นผู้ช่วยผู้ว่าฯ กทม.
จากนั้นนางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ ได้เดินทางมาลงสมัครเป็นลำดับที่ 21โดยได้สวมชุดลูกไม้สีขาว พร้อมสวมมงกุฎเพชรขนาดใหญ่ และมีเด็กชาย 3 คนสวมชุดไทยเดินชูป้ายนโยบายหาเสียง
นางธรณี กล่าวว่า ตนเองจะปลดแอก กทม.จากอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ยุบอำนาจนักการเมืองที่จะแข่งกันโยกย้ายราชการโดยให้อำนาจแต่งตั้งอยู่กับประชาชนภายใต้สภาราษฎร์ร่วมรัฐที่ประชาชนในแต่ละเขตเป็นผู้จัดตั้งทั้ง 50 เขต โดยสามารถออกแบบเขตของตนเองเหมือนกับออกแบบบ้าน ทั้งนี้ ตนเองยืนยันจะไม่ลงพื้นที่หาเสียง หรือติดตั้งป้ายหาเสียง แต่หากมีสื่อและประชาชนต้องการรับทราบนโยบายตนเองพร้อมให้ความร่วมมือแต่จะไม่เดินหาเสียงข้างถนนเด็ดขาด
“คุณธรณี เป็นสายเทวดา แล้วแต่เทวดาและประชาชน ดิฉันอาสามาทำให้เพราะฟ้าส่งลงมา โดยคอนเซ็ปต์ในการแต่งตัวมาสมัครวันนี้ คือ พระแม่ธรณี และพระแม่กวนอิม”
จากนั้นนายศุภชัย เขษมวงศ์ อาชีพพนักงานบริษัทได้เดินทางสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้หมายเลขที่ 22 พร้อมกล่าวว่า ตนเองต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงรับเลือกตั้งสมัยแรก แต่ครั้งนั้นตนเองไม่พร้อม ทั้งนี้ นโยบายที่จะใช้หาเสียง คือ ผู้ว่านวัตกรรมนำกรุงเทพฯมั่นคง สดใส โดยมีคพชติพจน์ประจำใจ คือ ทุกข์ สุขของพี่น้องกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯระลึกอยู่ในใจเสมอ ความเดือดร้อนของคนไทย ผู้ว่ากรุงเทพฯขอร่วมแบกรับ (ถ้าอยู่ในความสามารถ) โดยโครงกาาจะดำเนินการหากได้รับเลือกตั้ง คือ 1.โครงการแก้ปัญหา 3 น้ำอย่างยั่งยืน (น้ำท่วม,น้ำแล้ง, น้ำใต้ดิน) 2.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯแนวใหม่ 3.โครงการสร้างงานอาชีพและชื่อเสียงให้กับคนไทยและประเทศไทย สำหรับการหาเสียงนั้น เนื่องจากตนเองเป็นพนักงานออฟฟิศคงไม่สามารถได้เต็มที่แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด
นางสาวรวิวรรณ สุทธวิรีสรรค์ อดีตข้าราชสำนักการระบายน้ำ กทม.ได้มาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร คือ 23 พร้อมกล่าวว่า ตนเองมีนโยบายที่จำทำถังขยะแบบใช้ที่เหยียบเปิดฝาถังโดยไม่ต้องใช้มือจับ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่ตัดสินใจลงสมัครเพราะว่าอยากลองดูว่าการเมืองเป็นยังไงหากเข้ามาแล้วซึ่งตนเองจะใช้ความรู้คู่คุณธรรมเนื่องจากสมัยเป็นข้าราชการเคยถูกกลั่นแกล้ง
ต่อมาพ.ต.อ.ขจรศักดิ์ โกษะโยธิน อายุ 62 ปีซึ่งเดินทางมาพร้อมลูกชายโดยได้มารอยื่นใบสมัครตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ผ่านมาเนื่องจากต้องการได้หมายเลขสุดท้าย ขณะที่นายวิทยา จังกอบพัฒนา อายุ 65 ปี อดีตผู้สมัครฯครั้งที่แล้วซึ่งเดินทางมารอเวลาสมัครต่างก็ต้องการได้หมายเลขสุดท้ายเช่นเดียวกัน แต่ในที่สุดนายวิทยา ได้ตัดสินใจให้ พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ เป็นผู้สมัครหมายเลขสุดท้าย คือ หมายเลขที่ 25 ส่วนนายวิทยา ได้หมายประจำตัวผู้สมัคร คือ หมายเลข 24
นายวิทยา กล่าวว่า ตนเองมีนโยบายจะรณรงค์มาเลือกตั้งให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์โดยไม่จำเป็นต้องเลือกตนเองก็ได้ ทั้งนี้ คนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโอกาสได้รับบริการจากกทม.เป็นลำดับแรกซึ่งจะทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบมีสีให้เพื่อแสดงว่ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่มาใช้สิทธิก็จะไม่มีสี และได้รับบริการรองลงไป และให้ถือเป็นพลเมืองชั้นสอง
ต่อข้อถามที่ว่า โอกาสที่จะได้ค่อนข้างน้อย ทำไมจึงยังตัดสินใจมาลงสมัคร นายวิทยา กล่าวว่า ไม่มีอะไร ครั้งที่แล้วตนเองนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาจราจร ครั้งนี้ก็จะต่อยอดไปอีก
ด้าน พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ตนเองเป็นญาติห่างๆ ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน โดยการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล และตนอยากมีอนาคตเป็นของตนเองซึ่งตนเคยผ่านการศึกษาตั้งแต่โรงเรียนพลตำรวจจนเลื่อนมาถึงยศพันตำรวจเอก และออกจากราชการมาได้ 2 ปี ดังนั้น ตนเองจะใช้ประสบการณ์ในชีวิตที่ทำงานด้านจราจรมาบริหารงาน กทม.
“ผมรู้ดีว่าโอกาสมีศูนย์ แต่ตั้งใจมาเสนอตัวเพราะผมมีความรู้ด้านการปราบปรามรถยนต์ แก๊งเด็กแว๊นรถจักรยานยนต์ ถ้าผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ต้องการผมยินดีมาเสนอแนะความคิดเห็น ผมเสียเสียเงิน 5 หมื่นเพื่อมาเสนอตัวให้รู้ว่าผมพร้อม ทั้งนี้ ผมจะเปิดตัว 2 อาทิตย์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งโดยจะให้ผู้สมัครแข่งกันทำผิดไปเรื่อยๆ ก่อนจึงค่อยเปิดตัว” ผู้สมัครหมายเลขที่ 25 กล่าว
นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.ทถ.กทม.) แถลงข่าวภายหลังปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 21-25 มกราคม ซึ่งในวันสุดท้ายของการรับสมัครมีผู้สมัครใหม่ 7 ราย
นางนินนาท กล่าวว่า ผู้สมัครมีจำนวนทั้งสิ้น 25 ราย คือ มาสมัครในวันที่ 21 มกราคม 18 ราย ได้แก่ หมายเลข 1 นายวิละ อุดม หมายเลข 2 นายวรัญชัย โชคชนะ หมายเลข 3 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หมายเลข 4 นายโสภณ พรโชคชัย หมายเลข 5 นายสมิตร สมิตธินันท์ หมายเลข 6 นายสัณหพจ สุขศรีเมือง หมายเลข 7 นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ หมายเลข8 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล หมายเลข 9 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 10 นายโฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข 11 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หมายเลข 12 นางสาวจงจิตร์ หิรัญลาภ หมายเลข 13 นายวศิน ภิรมย์ หมายเลข 14 นายประทีป วัชรโชคเกษม หมายเลข 15 นายจำรัส อินทุมาร หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากนั้นในภายหลังการจับสลากหมายเลขมีผู้สมัครมายื่นใบสมัครเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่ หมายเลข 17 นายสุหฤท สยามวาลา และหมายเลข 18 นางนันท์นภัส โกไศยกานนท์ ส่วนผู้สมัครในวันที่ 25 มกราคม มี 7 ราย ได้แก่ หมายเลข 19 นายสุขุม วงประสิทธิ หมายเลข 20 นายกฤษณ์ สุริยผล หมายเลข 21 นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ หมายเลข 22 นายศุภชัย เกษมวงศ์ หมายเลข 23 น.ส.รวิวรรณ สุทธิวีรสรรค์ หมายเลข 24 นายวิทยา จังกอบวัฒนา และหมายเลข 25 พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ โกษะโยธิน
นางนินนาท กล่าวว่า จากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครใน 1 สัปดาห์ และจะประกาศผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 5 กุมภาพันธุ์ จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้เลื่อนขึ้นมาจากเดิมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อได้ที่สำนักงานเขต หากพบว่าข้อมูลบกพร้องขอให้แจ้งที่เขตภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์