อึ้ง! คนไทยตาย เพราะโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน ขึ้นแท่นตายมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ตกปีละกว่า 20,000 ราย พบเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากที่สุด สธ.ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคหัวใจในภูมิภาค 35 แห่ง กระจายเครือข่ายดูแลช่วยชีวิตฉุกเฉินอยู่ใกล้บ้าน พร้อมเปิดทางด่วนเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ หวังลดอัตราตายไม่เกิน 20 คนต่อแสนประชากรภายใน 3 ปี
วันนี้ (18 ม.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.) มหาราชนครราชสีมา เพื่อติดตามการจัดระบบดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจของเขตบริการสาธารณสุขที่ 9 ซึ่งมี 4 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงระดับศูนย์เชี่ยวชาญ ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาโรคหัวใจเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 4 รองลงมาจากมะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคหลอดเลือดสมอง ข้อมูลล่าสุดในปี 2554 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 20,130 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 ราย อัตราเสียชีวิต 31 ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยโรคหัวใจที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด คือ
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) ซึ่งมักเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน ทำให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกเป็นเวลานาน อมยาก็ไม่หาย และอาจจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น หอบเหนื่อย หน้ามืดเป็นลม มือเท้าเย็น โรคนี้หากได้รับการรักษาที่รวดเร็วเช่น การใส่สายสวนหัวใจ หรือกินยาละลายลิ่มเลือดเร็ว จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น แต่ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าศูนย์เชี่ยวชาญรักษามีน้อยมาก ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกทม.คิวรอรักษายาวตั้งแต่ 1 เดือน-2 ปี ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตไปก่อน
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สธ.ได้มีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพปี 2555-2559 โดยจัดทำเป็นเขตบริการสุขภาพมีทั้งหมด 12 เครือข่าย แต่ละเครือข่ายจะมีศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด 1-2 แห่ง ดูแล 4-8 จังหวัด ประชากรเฉลี่ย 5-6 ล้านคน โดยจัดบริการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด ใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในเขต และดูแลเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายตั้งแต่โรงพยาบาลเล็กสุดไปจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญ ขณะนี้ทุกเขตดำเนินการเสร็จแล้ว จากนี้ไปประชาชนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว จะสามารถเข้าถึงบริการสะดวกและใกล้บ้านขึ้น โดย สธ.ได้พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเบื้องต้นได้ และมีระบบส่งต่อถึงศูนย์เชี่ยวชาญสาขาโรคหัวใจภายในเครือข่ายได้ ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้มีไม่เกิน 20 ต่อแสนประชากร
“ขณะนี้ สธ.มีศูนย์เชี่ยวชาญรักษารวม 35 แห่ง จากที่มีทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนรวม 60 แห่ง ในการจัดบริการแต่ละศูนย์ฯได้พัฒนาระบบการดูแลรักษาขั้นต้นแก่ผู้ป่วยเมื่อป่วยฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเครือข่าย มีระบบการส่งข้อมูลของผู้ป่วยหนักไปศูนย์เชี่ยวชาญที่จะส่งตัวไปก่อนผู้ป่วยไปถึง เพื่อแพทย์วางแผนการรักษาก่อน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาที่ศูนย์โรคหัวใจได้ทันที ไม่ต้องไปเริ่มที่แผนกผู้ป่วยนอกและแผนกฉุกเฉินเหมือนที่ผ่านมา โดยมีรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ซึ่งจัดเป็นห้องไอซียูเคลื่อนที่นำส่งโรงพยาบาลซึ่งจะช่วยผู้ป่วยรอดชีวิตและปลอดภัยมากขึ้นในรายที่ไม่ฉุกเฉินจะได้รับคิวรักษาโดยแพทย์เชี่ยวชาญเร็วขึ้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการจัดบริการของเขตบริการสาธารณสุขที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ มี รพ.มหาราช จ.นครราชสีมาเป็นรพ.แม่ข่ายใหญ่รองรับผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งในจังหวัดและพื้นที่จังหวัดเครือข่าย 3 จังหวัด โดยในจ.นครราชสีมามีโรงพยาบาลแม่ข่ายรองอีก 2 แห่ง ได้แก่ รพ.เทพรัตน์ อ.เมือง และ รพ.ปากช่องนานา อ.ปากช่อง มีการจัดทำช่องทางด่วนในการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และจัดคณะแพทย์ด้านโรคหัวใจจากโรงพยาบาลศูนย์ออกเยี่ยม และให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริการ พัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาต้าน การแข็งตัวของเลือดภายหลังรักษา ให้สามารถรับยาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้
ทั้งนี้ ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.มหาราชนครราชสีมา จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2540 เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง มีศักยภาพในการให้บริการวินิจฉัยและตรวจรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งการตรวจพิเศษโรคหัวใจได้แก่ การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram) การตรวจวัดสมรรถนะหัวใจ การสวนหัวใจ การผ่าตัดหัวใจ และอื่นๆ มีอายุรแพทย์โรคหัวใจ 5 คน กุมารแพทย์โรคหัวใจ 2 คน ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก 5 คน พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ 61 คน มีห้องผ่าตัดหัวใจ 2 ห้อง หอผู้ป่วยหนัก 20 เตียง ผลการพัฒนาช่วยให้ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เข้าถึงบริการเร็วภายใน 90 นาทีมากถึงร้อยละ 83 จากเดิมเพียงร้อยละ 61ในปี 2553 อัตราการเสียชีวิตลดลงจากร้อยละ 18 ในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 15 ในปี 2555 โดยในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวเข้ารักษาทั้งหมด 7,060 ราย ในจำนวนนี้รักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด 2,662 ราย รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน 1,732 ราย ในอนาคตรพ.มหาราชฯ วางแผนเปิดบริการตรวจรักษาด้วยเครื่องสรีระการไฟฟ้า รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจผิดจังหวะ ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขต และการพัฒนาความร่วมมือกับโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา เพื่อเปิดใช้บริการห้องผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัดหัวใจให้เร็วกว่า 1 เดือน และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์ และบุรีรัมย์ให้สามารถให้บริการสวนหัวใจได้ในปี 2557