xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ใจป้ำพร้อมจ่าย 2 พันผู้ป่วยโรคเรื้อนสมัครใจเข้ารับการรักษาเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยแม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคเรื้อนได้แล้ว แต่ต้องไม่ประมาท เพราะโรคนี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ และมีระยะฝักตัวนาน 3-5 ปี ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว จะเข้าสู่กระบวนการรักษาเมื่ออาการหนักและอยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว การค้นหาผู้ป่วยและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น นอกจากจะรักษาหายขาดแล้วยังช่วยลดความพิการด้วย พร้อมให้เงินสนับสนุน 2 พันบาท หากผู้ป่วยสมัครใจเข้ารับการรักษาด้วยตนเอง

นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเรื้อนมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ว่า เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคเรื้อน แต่จะต้องไม่ประมาทและควรมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคเรื้อนสามารถพบได้ไม่จำกัดภูมิภาค โรคนี้มีระยะฟักตัวนาน 3-5 ปี ผู้ที่ป่วยมักไม่รู้ตัวและไม่ทันสังเกตอาการตัวเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาล่าช้า นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังปกปิดตนเอง หรือเห็นว่าอาการยังไม่รุนแรงจึงไม่รีบรักษา ผู้ป่วยจะยอมรับเข้าสู่กระบวนการรักษาก็ต่อเมื่ออาการหนักจนเกิดความพิการและอยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว ส่วนใหญ่จะเกิน 1 ปี ทำให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาล่าช้าไปด้วย ดังนั้น การเร่งค้นหาผู้ป่วยที่อาจหลงเหลือโดยเฉพาะใน 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยใหม่มากที่สุด คือ นราธิวาส บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี ในชุมชน กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มชาวไทยภูเขาซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีความยากลำบากในการเดินทาง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้การควบคุมและกำจัดโรคเรื้อนหมดสิ้นไปจากประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่มีอัตราความพิการระดับ 2 ซึ่งเป็นความพิการที่สามารถมองเห็นได้ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2558 นี้

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเรื้อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องเร่งค้นหาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะรักษาหายขาดแล้วยังช่วยลดความพิการด้วย ซึ่งการค้นหาผู้ป่วยมี 3 วิธี คือ 1.การตรวจผู้ป่วยภายนอกปกติของโรงพยาบาล 2.การเฝ้าระวังผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยเก่าซึ่งจะมีการตรวจทุกปี 3.การสำรวจหมู่บ้าน หากหมู่บ้านใดมีอัตราความชุกของโรคสูง หรือมีการค้นพบผู้ป่วยใหม่ทุกปี หรือใน 5 ปี หรือมีผู้ป่วยเด็กแสดงว่า อัตราการติดต่อยังรุนแรง โรคเรื้อนสามารถติดต่อได้สองทางคือ ทางผิวหนัง และทางระบบทางเดินหายใจ ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเรื้อนมากที่สุด ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่โรคเรื้อนเป็นโรคประจำถิ่น และผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโรคเรื้อน หรือผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยหลายราย อย่างใกล้ชิดและเป็นเวลานาน

ปัจจุบันการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อนอยู่ในความดูแลของระบบบริการสาธารณสุขทุกจังหวัด และมีสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขตทั่วประเทศทำหน้าที่ช่วยกำกับดูแลและติดตามช่วยเหลือ มีทีมออกสำรวจหมู่บ้าน และประชาสัมพันธ์ผู้ป่วยให้เข้ารับการตรวจคัดกรอง และรักษาทันที มีการให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเองซึ่งจะช่วยป้องกันความพิการและการแพร่เชื้อได้ ส่วนการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนในปัจจุบันจะใช้ยาสูตรผสม 3 ตัว คือ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) คลอฟาซิมิน (Clofazimine) แดปโซน (Dapsone) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการรักษาให้เหลือเพียงแค่ 6 เดือน ถึง 2 ปี จากเดิมที่เคยใช้เวลารักษานานถึง 16 ปี ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาการของผู้ป่วยโรคเรื้อนที่พบทางผิวหนังคือมีลักษณะเป็นวงด่างสีขาว ขอบไม่ชัด หรืออาจเป็นปื้น หรือตุ่มนูนแดงหนา หากเป็นโรคเรื้อนแบบเรื้อรัง ก็จะพบมีใบหูหนา หูผิดรูป หน้าบวม ถ้าเส้นประสาทรับความรู้สึกถูกทำลาย จะทำให้เกิดอาการชาบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยโรค ความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และกระจกตาลดลง บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนกำลังและกล้ามเนื้อลีบลง ส่วนอาการทางตาคือขนคิ้วร่วง หากมีการทำลายของเส้นประสาทคู่ที่ 7 จะทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้หลับตาปิดไม่สนิท ส่งผลให้กระจกตาแห้ง และเกิดแผลทำให้ตาบอดได้ ส่วนอาการระบบอื่นๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต เยื่อบุช่องปากนูนหนาบวม และ แตกเป็นแผล นอกจากนี้ อาจเกิดการอักเสบของอัณฑะ และหากเชื้อลุกลามเข้าถึงกระดูกซึ่งเป็นบริเวณที่สร้างเม็ดเลือด ก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

ด้าน ศ.นพ.ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย กล่าวว่า สถาบันราชประชาสมาสัย ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรคที่ทำหน้าที่ในการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อนจะมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์ราชประชาสมาสัยขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาโรคเรื้อน โดยในปี 2556 นี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ และองค์กรอาสาสมัครต่างๆ ได้ร่วมจัดโครงการรณรงค์ “รวมใจภักดิ์ 105 ปี จักรีราชประชาสมาสัย” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีที่ช่วง 105 ปีที่ผ่านมา ทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้การสนับสนุนงานโรคเรื้อนมาโดยตลอด กำหนดการจัดงานครั้งนี้จะมีขึ้นในวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่สถาบันราชประชาสมาสัย พระประแดง และใน 4 จังหวัด คือ นราธิวาส กำแพงเพชร มหาสารคาม บุรีรัมย์ ส่วนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ก็จะมีการจัดงานในนิคมโรคเรื้อนทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการจัดงานจะมีนิทรรศการให้ความรู้และจัดแสดงผลงานวิชาการด้านโรคเรื้อน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วประเทศ ช่วยกันค้นหาเฝ้าระวังผู้ป่วยที่หลงเหลืออยู่ และนำเข้าสู่การรักษา โดยมูลนิธิราชประชาสมาสัยจะมอบเงินจำนวน 2,000 บาท ให้กับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้นำผู้ป่วยมารักษา ส่วนผู้ที่นำมาตรวจได้ 1,000 บาท และผู้ป่วยได้ 1,000 บาท และถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยตนเองจะได้ 2,000 บาท

จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมช่วยกันทำให้โรคเรื้อนหมดไปจากประเทศไทย ด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ยังไม่รู้ตัว รีบออกมารับการรักษา สำรวจตนเอง คนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน หากมีอาการน่าสงสัย ผิวหนังเป็นวงด่าง สีขาว หรือแดง มีอาการชา ไม่คัน ไม่เจ็บ ผิวแห้ง เหงื่อไม่ออกบริเวณรอยโรค ใช้ยากินหรือยาทา 3เดือนแล้วไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น