xs
xsm
sm
md
lg

อากาศเย็นลงทุก 1 องศา เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ.เตือนภัยหนาวกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจ ความดันโลหิต และเบาหวาน หลังพบอากาศเย็นทำให้ภาวะเลือดหนืดขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ชี้อากาศเย็นลงทุก 1 องศาเซลเซียส เพิ่มโอกาสหัวใจวายเฉียบพลันได้ถึง 2% แนะ 7 วิธีการป้องกันดูแลร่างกายให้อบอุ่น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้นของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความเหมาะสมต่อการระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคไข้หวัดนก นอกจากกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่สามารถป่วยได้ง่ายแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานต่ำ และพบว่า มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากภัยหนาวสูงกว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัว จึงได้สั่งการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว และดูแลเป็นกรณีพิเศษ

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องดูแลตนเองใน 3 เรื่องสำคัญ คือ อาหาร การออกกำลังกาย และกินยาควบคุมอาการ แต่เมื่อถึงฤดูหนาวจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะความชื้นในอากาศลดลง ผิวหนังจะแห้งและคัน เมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังอักเสบง่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมื่ออากาศเย็นลงจะมีปัญหาระบบการไหลเวียนเลือด ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่า อุณหภูมิที่ลดลงมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะเลือดมีความหนืดขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2 ดังนั้น ในช่วงหนาวนี้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นเป็นพิเศษอยู่เสมอ

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรปฏิบัติตัวในช่วงฤดูหนาว ดังนี้ 1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่น โดยการสวมหมวก เสื้อคลุมกันหนาว ใส่ถุงมือถุงเท้า และรองเท้าที่ใส่สบาย หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ หรือขนสัตว์ เพราะจะระคายเคืองผิวหนัง ควรทาผิวด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์วันละหลายๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และเกิดอาการผิวแห้งคันตามมา ภายในบ้านควรดูแลให้อากาศถ่ายเทสะดวกและปิดหน้าต่างที่เป็นทางลมเข้า ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีคนแออัดการระบายอากาศไม่ดี เพราะอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและหายยากกว่าคนปกติ 2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่รสไม่จัด หลีกเลี่ยงลูกอม ขนมหวาน และอาหารไขมันสูง เลือกอาหารประเภทต้ม ธัญพืช ผัก ผลไม้สดที่หวานน้อยซึ่งมีวิตามินแร่ธาตุสูง ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะไม่สามารถช่วยได้ และจะทำให้เกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจเสียชีวิตได้

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ควรเป็นการออกกำลังกายในร่ม เช่น เล่นโยคะ เต้นแอโรบิกขณะดูทีวี หรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่ไม่มีแดดจัดและไม่มีลมพัดแรง สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว หรือยืดเหยียดร่างกาย 4.หมั่นตรวจเช็คค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 5.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 6.คอยสังเกตอาการผิดปกติ และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่หันไปพึ่งพาอบายมุข บุหรี่ สุรา ไม่เครียด โดยปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ และ 7.พักผ่อนให้เพียงพอ โดยสวมใส่ชุดนอนที่อบอุ่นและห่มผ้าหนาๆ จัดห้องนอนไม่ให้ลมผ่านมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนตอนกลางคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น