xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์แผนไทยฯ เผยตัด “ไคร้เครือ” ออกจากตำรับยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ รับตัด “ไคร้เครือ” ออกจากตำรับยาแพทย์แผนไทยแล้ว หลังมีรายงานเป็นสารก่อมะเร็งจากต่างประเทศ พร้อมสั่งทุกสถานพยาบาลระงับใช้ยาสมุนไพรที่มีไคร้เครือเป็นส่วนประกอบ พร้อมศึกษาตำรับยาเชิงลึก มีสมุนไพรอื่นล้างพิษไคร้เครือหรือไม่ เหตุยาแผนไทยใช้สมุนไพรหลายตัวในการออกฤทธิ์ มีเทคนิค “สะตุ ประสะ” ฆ่าพิษกันและกันจนหมดไป

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่อาคารเรือนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสาร aristolochic acid ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและมีความเป็นพิษต่อไตอย่างรุนแรงของสมุนไพรไคร้เครือ ว่า ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาการเกิดสารก่อมะเร็งในประเทศไทย เหมือนกับที่พบในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน และเบลเยียม ก็ตาม แต่ในเบื้องต้นคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติก็ได้ประกาศตัดสมุนไพรไคร้เครือออกจากตำรับยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554 จำนวน 10 ตำรับ จาก 28 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมแก้ลมวิงเวียน ยาหอมอินทจักร์ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะการพลู ยาประสะเจตพังคี ยามัมทธาตุ ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาเขียวหอม และยาอำมฤควาที ขณะที่สถานพยาบาลที่มีการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยก็ได้สั่งระงับการใช้สมุนไพรที่มีไคร้เครือเป็นส่วนประกอบแล้วเช่นกัน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯไม่มีส่วนผสมของสมุนไพรไคร้เครือแต่อย่างใด

“เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับการป้องกันและคุ้มครองประชาชนเป็นพื้นฐาน เมื่อมีรายงานความเป็นพิษของสมุนไพรไคร้เครือจากต่างประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องตัดไคร้เครืออกจากตำรับยาไปก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทยได้ทำการรักษาด้วยว่า เมื่อนำไคร้เครือออกจากตำรับยาดังกล่าวแล้วประสิทธิภาพในการรักษาจะด้อยลงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า ไม่ด้อยลง นอกจากนี้ ยังมีการนำสมุนไพรตัวอื่นมาเป็นส่วนประกอบแทนไคร้เครือในแต่ละตำรับด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว

นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การที่ไคร้เครือจะส่งผลต่อร่างกายได้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นสารจากสมุนไพรต่างๆ ขนาดที่ใช้รับประทาน ระยะเวลาที่ใช้ในการรับประทาน และยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ รายงานความเป็นพิษและสารก่อมะเร็งของไคร้เครือเป็นเพียงการวิจัยสมุนไพรเดี่ยว ซึ่งทำให้พบความเป็นพิษ แต่การรักษาด้วยสมุนไพรของไทยเป็นการรักษาแบบตำรับยา ซึ่งมีสมุนไพรหลายตัวเป็นองค์ประกอบ ทำให้อาจมีสารจากสมุนไพรตัวอื่นที่ช่วยล้างพิษหรือสาร aristolochic acid ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนาน เช่น วิธีการ สะตุ ประสะ เป็นวิธีการทำให้ตัวยามีฤทธิ์อ่อนลง ส่วนการฆ่าฤทธิ์ เป็นวิธีการทำให้พิษของตัวยาที่มีพิษมาหมดไป หรือเหลือน้อยจนไม่เป็นอันตราย เป็นต้น ถือเป็นความฉลาดเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ

“ยกตัวอย่าง ความเชื่อทางการแพทย์แผนไทยที่ว่าเครื่องสมุนไพรในตำรับบางชนิด เช่น สมอไทย อาจมีฤทธิ์ในการช่วยขับพิษ จึงมีข้อสมมติฐานว่า สมอไทย อาจมีสารออกฤทธิ์หรือเอนไซม์บางชนิดที่ทำให้สาร aristolochic acid คงตัว ไม่เกิดการแปรสภาพขณะอยู่ในระบบทางเดินอาหารจนกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ เช่น โปรตีน glycine เป็นต้น ตรงนี้ต้องมีการศึกษาค้นคว้า โดยต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ของบประมาณจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อศึกษาสมุนไพรไคร้เครือในเชิงลึกต่อไป” นพ.สมชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น