xs
xsm
sm
md
lg

เข้าปีใหม่ เลิกเหล้า เลิกเมา เลิก...แอ๊บแตก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

เคยสังเกตหรือไม่ว่า อาการของแต่ละคนหลังน้ำเมาเข้าปาก เขามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร บางคนอาจเมาแล้วเพี้ยน เมาแล้วร้องไห้ เมาแล้วหัวเราะ เมาแล้วหลับ เมาแล้วพูดมาก เมาแล้วใช้ความรุนแรง เมาแล้วสาวแตก ฯลฯ จนเพื่อนๆ ถึงขั้นส่ายหน้าเอือมระอา เพราะแทนที่จะได้สนุกสนานไปกับช่วงเทศกาลวันดีๆ กลับต้องมาคอยดูแล หิ้วปีกเพื่อนจอมเมาที่นอกจากพฤติกรรมเปลี่ยนแล้ว ยังดูแลตัวเองไม่ได้อีก!!

ไม่แปลกที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงได้รับฉายามาแต่โบราณว่า...น้ำเปลี่ยนนิสัย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สาเหตุที่เมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าปากแล้วเปลี่ยนนิสัยคนบางคนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้นั้น นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมี “เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol)” เป็นส่วนประกอบ ซึ่งฤทธิ์ของเมทิลแอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของศูนย์ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ ทำให้พฤติกรรมที่คนเรา “แอ๊บ” เอาไว้ตลอดเวลาหลุดออกมา ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้น น่าจะเป็นนิสัยเดิมที่เก็บเอาไว้ของคนๆ นั้นเอง ทำให้แต่ละคนเมื่อเมาเหล้าแล้วมีอาการที่แตกต่างกันออกไป

สอดคล้องกับ นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้ส่วนควบคุมพฤติกรรมเสียไป หรือหยุดทำงาน เวลาเมาเราจึงเห็นคนทำอะไรบ้าๆ บอๆ ก้าวร้าว ซึ่งต่างจากเมื่อเวลามีสติเราจะสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ ตรงนี้ต้องคอยระมัดระวัง เพราะคนที่เมาจะดูตัวเองไม่ออก เพื่อนต้องคอยสังเกตอาการเมา โดยเฉพาะคนที่เมาแล้วมีอาการก้าวร้าวรุนแรง

เวลาคนเมาจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา ซึ่งพฤติกรรมตรงนั้นเป็นจิตทั้งก้อน เป็นนิสัยดิบของเขา ซึ่งปกติแล้วเมื่อเรามีสติเราจะควบคุมได้ บางคนพื้นนิสัยอาจเป็นคนก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง เมื่อเมาก็อาจทำให้มีพฤติกรรมที่รุนแรง หรือบางคนเก็บงำความเศร้าเอาไว้ เมื่อเมาก็อาจจะร้องไห้ฟูมฟายเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น

นพ.ทวี กล่าวว่า ขอแนะนำสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติดื่มเหล้าจนเมาแล้วเลอะเทอะ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากจำเป็นต้องดื่มควรมีเพื่อนคอยดู คอยสังเกตพฤติกรรม และคอยเตือนสติไม่ให้เมาจนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา

ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เปิดเผยว่า การแสดงพฤติกรรมเมื่อเกิดอาการเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีปัจจัยในการขับเคลื่อน 3 อย่าง ได้แก่ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด นิสัยเดิมของแต่ละบุคคล และความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะส่งผลต่อพฤติกรรมและร่างกายระยะสั้น โดยส่วนใหญ่เป็นผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจและระบบหายใจ ดังนี้

1.ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30-120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการผ่อนคลาย เพ้อฝัน เชื่อมั่น พูดคุยง่าย เป็นกันเอง สมาธิลดลง การตัดสินใจเริ่มผิดปกติ ปฏิกิริยาตอบสนองเริ่มช้าลง การประสานงาน และการควบคุมกล้ามเนื้อบางส่วนเริ่มผิดปกติ

2.ระดับ 90-250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการง่วงนอน ซึม ความสามารถในการจำ ในการทำความเข้าใจ ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลงอย่างชัดเจน เดินไม่ตรง ประสาทการรับรู้ผิดปกติ เช่น สายตาเบลอ

3.ระดับ 180-300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการ สับสน ซึม พูดไม่รู้เรื่อง เดินเป๋มากขึ้น สายตาสับสน วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง อาจควบคุมอุจาระปัสสาวะไม่ได้

4.ระดับ 250-400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการเดินไม่ได้ หมดสติเป็นช่วงๆ จำอะไรไม่ได้ ปัสสาวะราด สูญเสียการรับรู้เพิ่มขึ้น เช่น ชาทั้งแขนขา การเต้นของหัวใจลดลง มีความผิดปกติของการหายใจ อาเจียนรุนแรง อาจเกิดอาการสำลักขณะหมดสติ

5.ระดับ 350-500 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการหมดสติ โคม่า สูญเสียปฏิกิริยาตอบสนอง มีความผิดปกติของการหายใจ หายใจช้าลง จนถึงหยุดหายใจได้ หัวใจเต้นช้าลง และเสียชีวิต

แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มโอกาสของการเกิดปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ดื่มเช่นนี้ หรือระดับนี้แล้วจะเกิด เพราะนอกจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดแล้วยังขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจ สิ่งแวดล้อมของการดื่ม และความสามารถในการควบคุมตัวเองด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คนที่ดื่มจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนไม่ดื่ม คนดื่มมากจะเสี่ยงกว่าคนดื่มน้อย

นอกจากพฤติกรรม “แอ๊บแตก” และแสดงนิสัยดิบของตนออกมาแล้ว นพ.ทักษพล อธิบายอีกว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อการก่อความรุนแรงด้วย เนื่องจากปัจจัยการควบคุมตนเองเสียไป เช่น สติ การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง การแปรผลข้อมูล และปัจจัยความเสี่ยง เช่น กล้าเผชิญหน้า กล้าเสี่ยง และจัดการกับอารมณ์ได้ไม่ดี ที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากขาดสติยับยั้งชั่งใจ รวมไปถึงอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 26,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ที่จะถึงนี้ หากไม่ต้องการเป็น 1 ใน 26,000 รายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเกิดอาการแอ๊บแตก แสดงพฤติกรรมที่ไม่อยากให้ใครได้เห็น ถ้าเป็นไปได้ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากจำเป็นต้องดื่มควรมีเพื่อนคอยสังเกตอาหารหรือเตือนสติ ที่สำคัญดื่มแล้วไม่ควรขับรถด้วยตัวเอง เพราะหากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าผิดกฎหมายตามประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น