xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯ กทม.ดูความคืบหน้าสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก ปชส.กทม.
รองผู้ว่าฯ กทม.ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินแห่งแรกของไทยที่บางซื่อ

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางซื่อ และระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินแห่งแรก ว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ จัดทำโครงการศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินขึ้น ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับการมีระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน ส่วนด้านบนของอาคารเป็นศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมใน กทม.เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็ก เยาวชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ทางเข้าติดถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามสถานีขนส่งหมอชิต ภายนอกอาคารมีการออกแบบภูมิทัศน์ให้เป็นสวนน้ำ โดยปลูกพืชที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย และพืชตามในโครงการพระราชดำริ และยังคงรักษาเส้นทางวิ่งและปั่นจักรยาน รวมถึงต้นลำพู บริเวณโดยรอบสระน้ำ ด้านหน้าอาคารมีม่านน้ำตกขนาดใหญ่ ทอดยาวตามความโค้งของผนังอาคาร และอุทยานไม้น้ำบริเวณสระน้ำด้านหน้าอาคาร 100 เมตร ซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดผ่านการกรองแล้วได้นำมาใช้ในสวน ประมาณวันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตร ที่เหลือจะปล่อยลงคลองบางซื่อ คลองเปรมประชากร และคลองบางเขน ส่วนตะกอนที่เหลือจะนำไปผ่านกระบวนการจนเกิดเป็นตะกอนแห้งก่อนนำไปผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขมต่อไป

ทั้งนี้ ภายในอาคารเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการด้านสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย ขณะที่พื้นที่ใต้ดินของอาคารเป็นระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน ขนาด 12 ไร่ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากชุมชนและมลภาวะทางน้ำ โดยทำการรวบรวมน้ำเสียจากชุมชนเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำใต้ดินก่อนปล่อยลงสู่คูคลอง และแม่น้ำเจ้าพระยา มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 120,000 ลบ.ม./วัน ครอบคลุมพื้นที่บริการทั้งหมดประมาณ 20.7 ตร.กม.ในพื้นที่เขตบางซื่อทั้งหมด และบางส่วนในจตุจักร ดุสิต และพญาไท ประชากรรวม 223,990 คน การวางท่อรวบรวมน้ำเสียใช้วิธีดันท่อลอด (pipe jacking) แทนการขุดเปิดหน้าดินเพื่อลดผลต่อการจราจร ส่วนอาคารบำบัดน้ำเสียเป็นระบบปิดอยู่ใต้ดิน และมีระบบดูดอากาศ ที่มีกลิ่นทั้งหมดไปกำจัดด้วยระบบ Activated Sludge Diffusion และ Biofilter จึงไม่ก่อให้เกิดภาวะทางกลิ่นและเสียง

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างในสัญญาที่ 1 คือ งานก่อสร้างอาคารศูนย์การศึกษาและระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการทดลองระบบ ต่อไปจะเป็นการดำเนินการของสัญญาที่ 2 และ 3 คือ งานก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียบางซื่อฝั่งเหนือและท่อน้ำทิ้ง และงานก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียบางซื่อฝั่งใต้ตามลำดับ นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการก่อสร้างโรงบางบำบัดน้ำเสียอีก 5 แห่ง ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย ธนบุรี บางซื่อ มีนบุรี และ บึงหนองนอน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลเนื่องจากบางแห่งเป็นโครงการขนาดใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น