xs
xsm
sm
md
lg

เปิดระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพื่อใช้ในการเกษตรแห่งแรกที่บุรีรัมย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  เป็นประธานเปิด “ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ทางการเกษตร” ณ โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเทศบาลเมืองบุรีรัมย์นำร่องแห่งแรกของประเทศ วันนี้ ( 19 ธ.ค.)
บุรีรัมย์ - อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ทางการเกษตร นำร่องแห่งแรกของประเทศที่บ่อบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ คาดเกษตรกรได้ประโยชน์ 1,000 ไร่ นอกจากสามารถนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งด้วย

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิด “ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ทางการเกษตร” ณ โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเทศบาลเมืองบุรีรัมย์นำร่องแห่งแรกของประเทศ หลังจากที่ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว กลับมาใช้ใหม่ในภูมิภาคเขตร้อน ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) พร้อมด้วยองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น

โดยได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่นำร่องในการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง และจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ซึ่งจากการเดินระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพน้ำทิ้งมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ทางด้านการเกษตรได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์แห่งนี้ถือเป็นแห่งแรกที่สามารถนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้ใหม่ ซึ่งหาก อบต. หรือเทศบาลใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดน้ำเสียก็สามารถมาศึกษาดูแบบ เพื่อนำไปก่อสร้างในพื้นที่ของตนเอง เชื่อว่าหากหลายแห่งสามารถทำได้ก็จะลดปัญหาน้ำเสีย ทั้งยังสามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

ด้าน นายพิริยะ พลวัน ปลัดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า บ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ดังกล่าว ทางกรมโยธาธิการได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างกว่า 249 ล้านบาท เมื่อปี 2541 และสามารถเดินระบบมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการวิจัยถึงโลหะ จุลินทรีย์ และแบคทีเรีย ที่อาจจะตกค้างในพืช กระทั่งเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ทางองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้มาทำโครงการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงระบบบำบัดน้ำทิ้งจนได้มาตรฐานและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้

โดยโรงบำบัดน้ำทิ้งดังกล่าวสามารถรองรับน้ำได้ถึงวันละ 13,000 ลูกบาศก์เมตร และเชื่อว่าเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ในอีกทางหนึ่งด้วย เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงจะอาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่






กำลังโหลดความคิดเห็น