กรมศิลป์งัดกฎหมายโบราณสถานฯ หวังหยุดรื้อถอนตึกศาลฎีกา แจงเข้าข่ายเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าในตัวเอง แต่ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากทุบรื้อถอนโดยไม่ได้อนุญาต มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท เผย มีโบราณสถานรอขึ้นทะเบียนกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (21 ธ.ค.) นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากกรณีศาลฎีกาดำเนินการรื้อถอนอาคารเก่า 2 หลัง ซึ่งหลังแรกเป็นอาคารศาลยุติธรรม ตั้งอยู่บริเวณหลังอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หลังที่ 2 เป็นศาลอาญากรุงเทพใต้ อยู่ติดกับคลองหลอด ซึ่งทั้ง 2 อาคาร ถือว่าเป็นโบราณสถานมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้านการพัฒนากฎหมาย กระทั่งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศมอบรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ เมื่อปี 2550 และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี 2552
นายสหวัฒน์ กล่าวถึงการชี้แจงศาลฎีกาว่าทางกรมศิลปากรไม่ได้มีการคัดค้านทุบอาคารทั้ง 2 หลังนั้น ไม่เป็นเรื่องจริง ตนได้สอบถามไปยังอดีตอธิบดี ผู้บริหารกรมศิลปากรหลายท่าน กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้คัดค้านไปแล้วแต่ไม่เป็นผล และเมื่อปี 2552 ทางกรมศิลปากรได้ทำหนังสือแจ้งไปยังศาลฎีกาแล้ว ว่า ทั้ง 2 อาคารถือเป็นโบราณสถานโดยตัวเอง จึงเป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์และเป็นโบราณสถานชัดเจน เทียบเท่าโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน ต้องได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม 2535) เพราะฉะนั้นการรื้อ การทำลาย ตกแต่งต่อเติมต้องขออนุญาตกรมศิลปากร หากใครฝ่าฝืนกรณีโบราณสถานที่ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท กรณีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีโทษสูงสุด 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่กรณีอาคารศาลฎีกากรมศิลปากรไม่เคยได้รับหนังสือขออนุญาตมาเลย แต่กลับมีการทุบรื้อถอน ขณะนี้ตนได้ลงนามในหนังสือแจ้งไปยังศาลฎีกาขอให้ระงับการรื้อถอนก่อน
ทั้งนี้ ตามหลักการใน พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ระบุไว้ชัดเจนว่า โบราณสถาน คือ อสังหาริมทรัพย์ที่มีอายุเก่าแก่ สถาปัตยกรรมมีประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ให้ถือเป็นโบราณสถานไว้ก่อน หากตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะจะมีการตรวจสอบข้อมูลความสำคัญ ประวัติ ถ่ายภาพ ทำแผนผัง ส่งมายังสำนักโบราณคดีตรวจสอบอีกครั้ง หากเห็นชอบเสนอต่ออธิบดีกรมศิลปากรลงนามและส่งต่อให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อปกป้องคุ้มครองอนุรักษ์รักษาไว้ แต่หากโบราณสถานตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเจ้าของ เช่น เอกชน วัด จะต้องแจ้งเจ้าของก่อนว่าจะมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน หากไม่ยินยอมสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้
“ศาลมีคำพิพากษาเช่นไร ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามเช่นนั้น ไม่ให้ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรจะหยุดทันที หากศาลเห็นชอบกรมศิลปากรจะเดินหน้าต่อเข้าสู่กระบวนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น สิ่งก่อสร้างทุกแห่งเมื่อเข้าข่ายการเป็นโบราณสถาน ไม่ว่าโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ขึ้นทะเบียน ถือว่าได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.โบราณสถานฯทั้งสิ้น”
อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงว่า โบราณสถานบางแห่งที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเพราะกระบวนการตรวจสอบต้องถูกต้องชัดเจน ภายใน 1 ปี ซึ่งกรมศิลปากรสามารถประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้เพียง 100 กว่าแห่ง ขณะที่มีโบราณสถานที่อยู่ในบัญชีอีก 8,000 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการหรือแจ้งผู้ครอบครองให้รับทราบและยินยอมเข้าสู่กระบวนการการประกาศเป็นโบราณสถาน