xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวบรรจุลูกจ้าง สธ.เป็น ขรก. เล็งแบ่งสัดส่วน 21 วิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ไฟเขียวบรรจุลูกจ้างชั่วคราว สธ.เป็นข้าราชการ 22,641 อัตรา แบ่ง 3 ปีๆละ 7,547 อัตรา สธ.เตรียมแบ่งสัดส่วนทั้ง 21 สายวิชาชีพ ยันเป็นธรรมทุกฝ่าย ด้านภาคีลูกจ้างชั่วคราวฯ ขอเข้าพบ รมว.สธ.สัปดาห์นี้ ลั่นหยุดงาน 1-3 ม.ค. 56 แน่ หากไม่เป็นผล
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.
วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข 21 สาขาวิชาชีพเป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตราจนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน กสธ.) ว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมหารือถึงการแบ่งสัดส่วนในแต่ละสายวิชาชีพว่าควรได้ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ คือ ความขาดแคลน พื้นที่ห่างไกล และภาระงาน ขอให้มั่นใจว่าการพิจารณาจะอิงความเป็นธรรมทุกฝ่าย และพร้อมจะบรรจุได้ในเดือนมกราคม 2556

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ส่วนผู้ที่รอการบรรจุ รวมไปถึงลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100,000 กว่าคนจะถูกยกสถานะเป็นพนักงาน กสธ. ซึ่งจะมีสิทธิสวัสดิการสูงขึ้นมากกว่าเดิม ส่วนการปรับอัตราเงินเดือนนั้นจะเป็นในกลุ่มสายวิชาชีพ 21 สายงาน สำหรับสายสนับสนุน เช่น พนักงานเข็นเปล พนักงานทำความสะอาด พนักงานธุรการ ผู้ช่วยพยาบาล ฯลฯ จะปรับอัตราเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา หากเพิ่มวุฒิการศึกษาก็จะปรับขึ้นเงินเดือนได้ แต่ในร่างระเบียบพนักงาน กสธ.นั้นจะมีการขึ้นเงินเดือนให้สายสนับสนุนอยู่แล้วปีละ 1 ครั้ง ในวงเงินร้อยละ 6 ต่อปีเท่ากับข้าราชการ ส่วนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการให้ค่าเสี่ยงภัย โดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องนี้ต้องแยกออกจากกันคนละส่วน ซึ่งค่าเสี่ยงภัยอยู่ระหว่างดำเนินการ ต้องพิจารณาหลายอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับงบประมาณในการเปลี่ยนเป็นพนักงาน กสธ.จะมีปัญหาหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ปัจจุบันงบประมาณในการจ้างลูกจ้างชั่วคราวจะใช้เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล โดยตกปีละ 15,000 ล้านบาททั่วประเทศ ซึ่งเมื่อมีการปรับเป็นพนักงาน กสธ. งบในการจ้างนั้นยังคงเป็นเงินบำรุง แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะประสบปัญหาทางการเงิน เพราะส่วนของลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพที่หายไปอยู่ข้าราชการประมาณ 7,547 คนนั้น ทำให้ไม่ต้องจ้างสามารถนำมาทบกันได้ จึงไม่เป็นภาระมาก

เมื่อถามกรณีภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย เตรียมนัดหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค. 2556 หากไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมพนักงาน กสธ.สายวิชาชีพ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ทุกคนได้สิทธิในการเป็นพนักงาน กสธ.หมด ซึ่งตรงนี้น่าจะมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขณะนี้ทางสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราวได้เข้าไปทำความเข้าใจแล้ว ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งจริงๆ ร่างพนักงาน กสธ.จะเน้นในเรื่องสิทธิสวัสดิการมากกว่า จะได้สิทธิลากิจ ลาป่วย ลาศึกษาต่อเหมือนข้าราชการ และจะมีสิทธิในประกันสังคม ซึ่งตรงนี้ในเรื่องการเก็บเงินสมทบอยู่ระหว่างหารือว่าจะมีสัดส่วนเท่าใด

นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างขอเข้าพบ รมว.สาธารณสุข ถึงการให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นผลยังคงยืนยันตามเดิม โดยจะขอหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค. 2556

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า มติ ครม. อนุมัติการเพิ่มจำนวนข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเห็นควรจัดสรรเพิ่มอัตราข้าราชการแก่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารสุข โดยตัวเลขที่ให้ไว้ของเดิมมีจำนวน 30,188 อัตรา ก็ขอมาเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวน 22,641 อัตรา เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตรา ในเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ที่จะบรรจุ 7,547 อัตรา ซึ่งมีอัตราว่างอยู่แล้ว 2,048 อัตรา เพราะฉะนั้น เลยขออัตราใหม่แค่ 5,499 อัตรา เพื่อสำหรับลูกจ้างสาธารณสุขในสาขาวิชาชีพอื่นๆ

ส่วนปีต่อๆไป ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินตามเงื่อนไข เพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะพิจารณาจัดสรรอัตราเพิ่มให้ ดังนี้ 1.ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำ ปรับปรุง ระบบฐานข้อมูลกำลังคนให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ภายในปีงบประมาณ 2556 2.ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวให้เสร็จสิ้น 3.ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการรองรับ” นายแพทย์ทศพร กล่าวและว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดตำแหน่งเพิ่มตามภาระงานและความขาดแคลน ตามเกณฑ์ ดังนี้ 1.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชน 2.โรงพยาบาลทั่วไปในถิ่นทุรกันดาร 3.โรงพยาบาลชุมชนเปิดใหม่ 4.โรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่อง 5.โรงพยาบาลทั่วไปที่มีภาระงานหนัก และ 6.หน่วยงานที่มีภารกิจด้านบริการเด็กและเยียวยา

ขณะที่ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการบรรจุพยาบาลวิชาชีพและลูกจ้างชั่วคราว เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารสุข ว่า จะใช้งบประมาณ 1,100 ล้านบาท เป็นเงินของกระทรวงสาธารณสุข ตนก็จะไปดูเงินเหลือจ่ายที่ไม่จำเป็น แล้วจะเกลี่ยมาใช้ แล้วจะทำระเบียบการจ้างกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งให้กระทรวงการคลัง และจะเริ่มบรรจุได้ประมาณต้นปีหน้า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็ให้นโยบายว่าควรมีเรื่องของการปรับบริหารงานบุคคลและงาน เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นต้นแบบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะต้องแบ่งงานและหน้าที่ให้เหมาะสม และทำแผนการจัดวางบุคลากรให้เสร็จ เพื่อส่งให้ กพร. ภายใน 4 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น