xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! เห็นแสงฟ้าแลบ-ม่านบังในตา สัญญาณอันตรายจอตาขาดเสี่ยงบอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จักษุแพทย์เผยคนไทยป่วยโรคจอตาขาด และหลุดลอกเฉลี่ยปีละ 7-8 พันราย แนะกลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงอายุ-ผู้เคยผ่าตัดตา-คนสายตาสั้นเกิน 700” ควรตรวจตาปีละครั้ง เหตุน้ำวุ้นตาเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป เตือนสังเกตอาการอันตรายแสงฟ้าแลบ และม่านบังในดวงตา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ห้อง Lotus 5-7 บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวระหว่างการอบรม “จอตาขาดและหลุดลอก” ในการประชุมวิชาการประจำปีของราชวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 100 ซึ่งจัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางโรคจอตา โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับชมรมจอตา ราชวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทย ว่า โรคจอตาขาดและหลุดลอกเกิดจากความเสื่อมของน้ำวุ้นตาที่แนบอยู่กับจอตา ทำให้น้ำวุ้นตาดึงจอตาจนเกิดรอยฉีกขาดและหลุดลอก โดยอาการที่แสดงว่าเป็นโรคดังกล่าวคือ จะเห็นเป็นม่านค่อยๆตกลงมาบังการมองเห็น ซึ่งระยะแรกจะเห็นเป็นม่านบางๆ ก่อนและจะเริ่มมีความหนามากขึ้น หรือมืดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจส่งผลให้ตาบอดได้ นอกจากนี้ ยังอาจเห็นแสงฟ้าแลบเข้ามาเป็นระยะๆ เหมือนการฉายแฟลชเข้าดวงตา ซึ่งความถี่ในการเห็นแสงฟ้าแลบนั้นมีจำนวนครั้งไม่แน่นอน บางรายอาจเกิดชั่วโมงละครั้ง แต่หากทิ้งไว้นานๆ ความถี่ของการเกิดจะมากขึ้น

นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า จากสถิติของศูนย์ฯโรคจอประสาทตา ปีงบประมาณ 2555 พบว่า มีผู้ป่วยโรคจอตาขาดและหลุดลอก จำนวน 4,213 ราย โดยอัตราการป่วยโรคจอตาขาดและหลุดลอกอยู่ที่ 1 ต่อ 10,000 ราย หรือประมาณ 7,000-8,000 รายต่อปี ส่วนมากมักเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางดวงตา ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน เช่น ผ่าตัดต้อกระจก และผู้ที่มีสายตาสั้นมากกว่า 7 ไดออปเตอร์ (700) ขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดความเสื่อมของน้ำวุ้นตามากกว่าคนปกติ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคจอตาขาดและหลุดลอกมากกว่า

“กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรหมั่นพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อขยายม่านตาตรวจจอประสาทตา เพราะบางรายอาจเกิดอาการจอตาขาดโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากขาดแล้วแต่ยังไม่หลุดลอก ซึ่งจะยังมองเห็นได้อยู่ แต่หากหลุดลอกและไม่รีบทำการรักษาอาจส่งผลให้ตาบอดได้ ซึ่งวิธีการรักษาต้องใช้วิธีการผ่าตัดน้ำวุ้นตาเพื่อให้จอตาติดกลับคืน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลมากกว่า 90% อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปควรใช้สายตาอย่างทะนุถนอม อย่าใช้มากเกินไปโดยไม่จำเป็น เช่น การเคลื่อนที่ของดวงตา เพราะยิ่งเคลื่อนไหวตามากๆ จะทำให้เสื่อมไว” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า สำหรับการเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตมากจนเกินไป หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ แม้จะไม่มีรายงานการวิจัยที่ชัดเจนว่ามีโอกาสทำให้น้ำวุ้นตาเสื่อม แต่จะทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า และเกิดอาการตาแห้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อดวงตาเช่นกัน ขอแนะนำให้ทุกคนใช้ดวงตาอย่างทะนุถนอม อย่าขยี้ตากดเข้าไปในดวงตา หรือการนวดเข้าไปที่ดวงตาโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น