สภาแพทยศาสตร์ เสนอ จบแพทย์ได้ ป.โท ขณะที่ คณบดีเภสัชฯ มหิดล จี้ สภาวิชาชีพให้ความสำคัญกับกลุ่มเภสัช และออกกฎเอาผิดเภสัชฯ ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแอบอ้างทำงาน
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ดร.นพ.ปรัชญะพันธุ์ เพชรช่วย รองคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลักษณ์ กล่าวถึงการนำเสนอข้อสรุปของแต่ละกลุ่มวิชาชีพ ในการประชุมทางวิชาการ ทปอ.ประจำปี 2555 เรื่อง “บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา” จัดโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า ที่ประชุมกลุ่มย่อยของวิชาชีพแพทย์มีข้อเสนอร่วมกันว่า ควรมีการปรับปรุงวุฒิการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตให้เป็นปริญญาโท จากเดิมเป็นปริญญาตรี โดยในระดับชั้นปีที่ 1-4 ให้ได้รับวุฒิการศึกษาปริญญาตรี แต่ในระดับชั้นปี 5-6 ให้ได้รับวุฒิการศึกษาปริญญาโท ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงเส้นทางสายอาชีพ โดยจะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ที่จะไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะย่นระยะเวลาในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการขอตำแหน่งทางวิชาการ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตควรสามารถปรับหลักสูตรได้ตามระยะเวลาของการศึกษา เพื่อให้ทันสมัยต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ทางการแพทย์ ไม่ใช่กำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรได้ในทุก 6 ปีเหมือนในปัจจุบัน
ด้าน รศ.ภญ.ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่คณะเภสัชศาสตร์ที่จะเปิดใหม่ ต้องผ่านความเห็นชอบทั้งด้านหลักสูตร และสถานที่จากสภาวิชาชีพเภสัชศาสตร์ เพื่อให้การผลิตบุคลากรด้านนี้มีคุณภาพและมาตรฐาน แต่จากการประชุมกลุ่มย่อยก็มีความเห็นร่วมกัน ว่า สภาวิชาชีพฯ ควรกำหนดกรอบ หรือโครงสร้างของหลักสูตรในภาพรวม ไม่ควรกำหนดรายวิชาบังคับของการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพถึง 4 รายวิชา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน และเปิดโอกาสให้คณะสามารถสร้างหลักสูตร และนวัตกรรมการเรียนการสอนให้มีอัตลักษณ์ตามความเหมาะสมและความสามารถเฉพาะทาง
“สภาวิชาชีพฯ ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของเภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วให้มาก อีกทั้งควรร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการบริหารจัดการบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา แต่สอบใบประกอบวิชาชีพที่ไม่ผ่าน โดยเฉพาะสภาวิชาชีพฯ น่าจะมีข้อบังคับ หรือมาตรการการตรวจสอบเภสัชกรที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ และแอบไปทำงานด้วย” รศ.ภญ.จุฑามณี กล่าว
ขณะที่ รศ.มานัส มงคลสุข หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า เกณฑ์การประเมินเพื่อรับรองสถาบันเข้มงวดเกินไป ส่งผลกระทบต่อการผลิตบัณฑิต ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาที่ขาดแคลน และมีค่าตอบแทนสูง โดยขาดแคลนปีละ 1,000 คน และหากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ใน พ.ศ.2558 นั้น วิชาชีพรังสีเทคนิคอาจถูกโจมตีโดยนักรังสีเทคนิคจากประเทศฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เนื่องจากค่าตอบแทนภายในสองประเทศดังกล่าวเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ประเทศไทยหากเข้าทำงานในภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือน 29,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้สภาวิชาชีพฯ สถาบันการการศึกษาที่ผลิตบุคลากร และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านรังสีเทคนิค ยังพูดถึงเรื่องผลกระทบการเข้าสู่เออีซีเป็นเรื่องไกลตัว และยังไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก ที่ประชุมจึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องผลกระทบของอาเซียนต่อไป
รศ.โรจน์ คุณเอนก อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กลุ่มวิทยาศาสตร์ฯ มีความเชื่อมโยงกับสาขาวิชาชีพที่หลากหลายมาก แต่มีวิชาชีพเพียง 4 สาขาเท่านั้นที่สภาวิชาชีพฯควบคุม ได้แก่ สาขานิวเคลียร์ สิ่งแวดล้อม เคมี และจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดโรค แต่พบว่า กระบวนการรับรองหลักสูตรกลับรับรองครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณา ที่ประชุมจึงได้เสนอให้สภาวิชาชีพพิจารณารับรองเฉพาะ 4 สาขาดังกล่าวที่ควบคุมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเสนอต่อที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศ ให้ดึงคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศให้เป็นเครือข่าย รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ศ.ดร.ลออศรี เสนอเมือง ประธานที่ประชุมได้รับจะไปดำเนินการต่อไป