xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชุมชน 6 จังหวัดอีสานใต้รับข้อเสนอการแก้ปัญหาที่ดินแนวใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมชนร่วมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกัน
สุรินทร์ - คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ชงแผนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เน้นปฏิรูปที่ดินและที่อยู่อาศัยแนวใหม่ กระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เปิดเวที “การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแนวใหม่ กระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ขึ้น ณ มูลนิธิพัฒนาอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทและชุมชนที่สนใจเข้าร่วมเวทีประมาณ 80 คนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา

นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง เครือข่ายปฎิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แผนการแก้ไขปัญหาที่ดินต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นถึงปัญหาจากการใช้ที่ดินทั้งจังหวัดมีเนื้อที่กี่ไร่ จำนวนครัวเรือนที่เดือดร้อน จากนั้นก็นำข้อมูลมาจัดทำแผนที่ทำมือ ทำผังตำบล ข้อมูลผู้เดือดร้อนรายแปลง จัดทำข้อมูลระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เปิดเวทีรับรองข้อมูล จัดประชาคมผู้เดือดร้อน และวิเคราะห์ตำบล
นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง เครือข่ายปฎิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม การจะจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่ดินแนวใหม่จำเป็นต้องใช้สูตรบันได 3 ขั้นในการพัฒนาที่ดินแนวใหม่ ดังนี้ บันไดขั้นแรกสร้างความเข้าใจและพัฒนาข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานตำบลด้านผู้เดือดร้อนและมีกระบวนการรับรองข้อมูลข้อมูลพื้นฐานด้านสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มีกลไกแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยมีส่วนร่วมกับภาคีในพื้นที่ นำไปสู่การจัดทำแผนและแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือแผนพัฒนาพื้นที่โดยผ่านการวิเคราะห์ผังตำบล

บันไดขั้นที่ 2 การสนับสนุนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยการจัดการที่ดินและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย โดยใช้รูปธรรมในการจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินและการพัฒนาคุณภาพชีวิต สนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถขยายผลสู่ตำบลอื่นๆ ได้ และบันไดขั้นสุดท้ายคือการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมในการจัดการที่ดินน้ำ ทรัพยากร กล่าวคือ มีการเชื่อมโยงพื้นที่ในเชิงภูมินิเวศเดียวกัน

การจัดการที่ดินทำกินแนวใหม่ โดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่นเป้าหมาย เพื่อผลักดัน ปฏิรูปนโยบายรัฐ ให้ตอบสนองการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมตามวิถีชุมชนท้องถิ่น ให้มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบและคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ผลักดันแนวคิดและการจัดการเรื่องที่ดินให้เป็นปัจจัยการผลผลิตที่มีคุณค่าตอบสนองวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจชุมชนเชื่อมโยงขบวนชุมชนสู่นโยบายรัฐ ชุมชนเมือง ชนบท
นายสมศรี ทองหล่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้
นายสมศรี ทองหล่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ กล่าวว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่ดินต้องใช้พื้นที่ตำบลและภูมินิเวศ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการ แล้วประสานและเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชน ภาคีท้องถิ่น และงานประเด็นพัฒนาในพื้นที่ โดยเร่งสร้างพื้นที่รูปธรรมนำร่อง ในพื้นที่ที่มีความพร้อม ทั้งชุมชน และภาคีท้องถิ่นสร้างผังตำบลโดยใช้ข้อมูลทุกมิติ เช่น ที่ดิน ภูมิประเทศ ผู้คน สังคม ระบบการผลิต ในแต่ละพื้นที่สร้างความมั่นคงในที่ดินอย่างเป็นธรรมและเอื้ออาทรของชุมชน

นายมนูญ นาจาน เครือข่ายปฎิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินต้องเริ่มจากชุมชน โดยใช้รูปแบบการออมเป็นกองทุนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน โดยแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะเป็นการจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด อันจะนำไปสู่การปฎิรูปที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยคืนชีวิตใหม่ให้ชุมชน

สำหรับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบท โดยการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของป่าสงวน ที่ดินสาธารณะและที่ดินราชพัสดุ เพื่อจัดทำแผนที่ทำมือ การจัดทำแผนที่ 1 : 4,000 การจัดทำแผนที่ GIS โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการดำเนินการ ยกระดับไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อการออมเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทและการออมเพื่อสวัสดิการชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายวิเชียร พลสยม เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการชุมชนอาวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
นายวิเชียร พลสยม เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการชุมชนอาวุโส พอช. กล่าวว่า การจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่ดินแนวใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ได้พิจารณาจากพื้นที่งานที่ดินเดิมและพื้นที่ขยายใกล้เคียงที่มีฐานงานพัฒนาหรือเครือข่ายประเด็นเดิมอยู่แล้ว เช่น สภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน ตามเป้าที่กระจายอำนาจสู่ฐานราก หรือพัฒนาจากประเด็นในพื้นที่เดิมที่มีในตำบล เสนอผ่านกลไกจังหวัด มาสู่กลไกพิจารณาระดับภาคเสนอคณะทำงานชุดเล็กระดับชาติ แล้วเสนออนุกรรมการเสริมสร้างขีดความสามารถ เน้น การบูรณาการเนื้องานในตำบลในรูป 1 แผน 1 ตำบล

สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ปี 2554 มีการดำเนินการไปแล้ว 11 ตำบล สนับสนุนงบประมาณกว่า 1,270,000 บาท

ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกันแล้วยังจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี การปรับปรุงรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการขัดแย้ง ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานกันเป็นเครือข่าย และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างมีทิศทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาพัฒนาชุมชน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร พัฒนาอาชีพสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น