xs
xsm
sm
md
lg

“ผ่าตัดหมอนรองกระดูกเทียม” เทคนิคใหม่ใช้เวลาฟื้นตัวน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รู้หรือไม่...อาการปวดบริเวณต้นคอร้าวไปถึงหัวไหล่และแขน หรือมือมีอาการอ่อนแรง ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะนักกีฬา หรือคนที่ชอบเล่นกีฬาเท่านั้น คนทั่วไปก็มีอาการดังกล่าวได้ แต่มักคิดว่าเป็นอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ทิ้งไว้ไม่นานก็หาย ทว่าอาการบาดเจ็บแบบนี้ อาจเป็นภาวะของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้

นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ว่า อาจเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นความเสี่ยงแฝงที่ติดมากับตัว แต่ปัจจุบันพบว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ หรือการออกกำลังกายผิดท่า ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะนี้ได้เช่นกัน เช่น การหมุนคอ หรือใช้ศีรษะโหม่งลูกบอลซ้ำแล้วซ้ำอีก อาการแบบนี้ นักกีฬา หรือคนที่ชอบเล่นกอล์ฟก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน หากบิดไหล่อย่างแรงขณะที่ศีรษะนิ่งก็จะทำให้หมอนรองกระดูกแตกปลิ้นได้

ผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกแตกปลิ้น จะมีอาการปวดแบบเฉียบพลันที่คอร้าวไปถึงบริเวณหัวไหล่ แขน หรือมือ มีอาการอ่อนแรง ลักษณะคล้ายอาการปวดและชาทั่วไปในกรณีที่เส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกที่แตกปลิ้นโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีโอกาสฟื้นตัวและหายได้เองในช่วงเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี

นับเป็นการพักฟื้นที่ใช้เวลานาน เนื่องจากต้องรอให้กระดูกที่แตกจะประสานติดกันดังเดิม ซึ่ง นพ.ทายาท อธิบายว่า ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่สะดวกทำกิจกรรมต่างๆ ทางสถาบันฯจึงหันมาใช้เทคโนโลยี “การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม (Total Disc Arthroplasty)” แทน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยย่นระยะเวลาการพักฟื้น ทำให้สามารถกลับไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำได้อย่างรวดเร็ว

นพ.ทายาท เปิดเผยว่า การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม เป็นการนำหมอนรองกระดูกที่แตกปลิ้นออกและใส่ข้อหมอนรองกระดูกเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ช่วยคงสภาพการเคลื่อนไหวของกระดูกได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และใช้เวลาการพักฟื้นในช่วงสั้นๆ หรือ 3 เดือน เท่านั้นหลังจากการผ่าตัด โดยสามารถทำได้ทั้งบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ และส่วนเอว

“ข้อดีของเทคนิคนี้ คือ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยลดโอกาสที่ต้องผ่าตัดใหม่อีกครั้งเนื่องจากปัญหาเดิม อีกทั้งสามารถกลับไปมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นกีฬาได้เต็มที่อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันยังช่วยในการตรวจติดตามการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด (Intraoperative Monitoring:IOM) กล้องผ่าตัดที่มีกำลังขยายสูง (Microscope) ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การรักษาผ่าตัดจะพิจารณาแนวทางการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Custom-Made) เพื่อให้ประสิทธิภาพการรักษาเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด การกายภาพบำบัด การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท เนื่องจากการรักษาสามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทั้งการดำเนินโรค อายุ และรูปแบบการใช้ชีวิต เพราะการผ่าตัดอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป
กำลังโหลดความคิดเห็น