xs
xsm
sm
md
lg

96 ชุมชนใหม่ร่วมโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระยะที่ 2 ในปี 2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.จับมือสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อเนื่อง หลังการดำเนินงานระยะที่ 1 ใน 98 ชุมชน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมนำยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาที่ได้จากระยะที่ 1 มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานให้ 96 ชุมชนใหม่ที่เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 ใน 6 ประเด็น

วันนี้ (8 พ.ย.) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมกับ ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้แทนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แถลงข่าว โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า)

นางทยา กล่าวว่า กทม.มีแนวนโยบายในการสร้างความเสมอภาคและความเข้มแข็งให้ชุมชนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน จึงได้ดำเนินงาน “โครงการลด เหลื่อม ล้ำ” ขึ้นครั้งแรกในปี 2555 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลให้ครอบคลุมชุมชนอื่นๆ กทม.จึงได้ดำเนินงาน “โครงการลด เหลื่อม ล้ำ” ต่อเนื่อง ในปี 2556 เพื่อศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยนำยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้ศึกษาไว้ในระยะที่ 1 มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา และวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 2 ในประเด็นต่างๆ 6 ประเด็น ได้แก่ การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน การแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และความเหลื่อมล้ำในการแสดงความคิดเห็น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 จำนวน 98 ชุมชน และชุมชนใหม่ที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 2 จำนวน 96 ชุมชน ซึ่งได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนากรณีศึกษาใน 194 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยชุมชนใหม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร ชุมชนละไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนชุมชนจากระยะที่ 1 นั้น ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยการลงทุนร้อยละ 30 ของงบประมาณทั้งหมด และกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนงบประมาณให้ร้อยละ 70 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อชุมชน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีแนวคิดในการให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาชุมชน ตลอดจนเสนอแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน รวมถึงร่วมจัดกิจกรรมและโครงการด้วย

สำหรับโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร หรือ “โครงการลด เหลื่อม ล้ำ” ถือเป็นมิติใหม่ของการวิจัยในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กับภาคการศึกษา ได้แก่ สถาบันการศึกษา 26 แห่ง และภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และสมาคมวิจัยตลาดแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในการเริ่มดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.55 ซึ่งนิด้าทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการดำเนินงานและประสานงานกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนอีก 25 สถาบัน ร่วมดำเนินโครงการ ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพใน 98 ชุมชน และนำผลการศึกษาวิจัยมาสังเคราะห์เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนากรณีศึกษาโดยกรุงเทพมหานครสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมชุมชนละไม่เกิน 150,000 บาท รวมถึงได้ทำการวิจัยเชิงปริมาณในแหล่งชุมชนย่านการค้า และประชาคมต่างๆ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนใน 6 ประเด็นที่กล่าวมาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น