xs
xsm
sm
md
lg

พบปลาดุกย่างมีสารก่อมะเร็งมากสุด แนะลอกหนังก่อนกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คาด 2 วัน รู้ผลตรวจสารก่อมะเร็งในบะหมี่สำเร็จรูปเกาหลี “นองชิม” ส่วนการเฝ้าระวังอาหารปิ้งย่างอื่นๆ ในไทย พบ “ปลาดุกย่าง” มีสารก่อมะเร็งมากสุด แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน แนะลอกหนังก่อนทานช่วยลดความเสี่ยงได้

วันนี้ (8 พ.ย.) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวระหว่างแถลงข่าว “ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีนองชิม” ว่า ภายหลังมีข่าวการตรวจพบสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีนองชิม ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ส่งตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวจำนวน 5 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์นั้นเริ่มจากการย่อยสลายตัวอย่าง การกำจัดสิ่งเจือปนอื่นออกไป และตรวจวัดปริมาณสารเบนโซเอไพรีน ด้วยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) - Fluorescent detector ทั้งนี้ ในขั้นตอนการสลายตัวอย่างต้องใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมง แต่ตนได้กำชับให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้ทราบผลเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทาง รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้น จึงคาดว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 2 วัน จากนั้นจะมีการส่งผลให้กับทาง อย.ต่อไป

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สารเบนโซเอไพรีน เป็นสารประกอบในกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีมากกว่า 100 ชนิด ประกอบด้วย วงเบนซีนตั้งแต่ 2 วงขึ้นไป จัดเรียงเป็นเส้นตรง เป็นมุมเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรือการสลายทางเคมีของสารอินทรีย์โดยความร้อน แต่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารนี้ในอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2554 มีการสุ่มสำรวจอาหารที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อน ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้ง โดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสดใน กทม.42 แห่ง รวม 101 ตัวอย่าง เป็นไก่ย่าง 35 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนร้อยละ 31 ปริมาณสารดังกล่าวที่พบอยู่ที่ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ปลาดุกย่าง 36 ตัวอย่าง พบปนเปื้อน ร้อยละ 81 ปริมาณสารที่พบอยู่ที่ 0.5-3.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และหมูปิ้ง 30 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน ร้อยละ 40 ปริมาณสารที่พบอยู่ที่ 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ปริมาณสารที่พบยังถือว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แม้ผลการตรวจวิเคราะห์ในกลุ่มอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารดังกล่าวจะพบการปนเปื้อนในปริมาณที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก แต่เพื่อความปลอดภัยผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่าง จึงไม่ควรใช้ไฟแรง และใช้เวลาในการปิ้งย่างนานเกินไป ควรตัดแต่งอาหารส่วนที่ไหม้เกรียมออก ส่วนผู้บริโภค ก่อนรับประทานควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกไป ไม่ควรรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม ส่วนกรณีปลาดุกย่างนั้นแนะนำว่าควรลอกหนังออกและรับประทานแต่เนื้อจะช่วยลดความเสี่ยงการได้รับสารดังกล่าวลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น