เสียงเพลงสุนทราภรณ์เร้าอารมณ์ให้ทุกคนเคลื่อนไหวไปตามเสียงนับจังหวะ หนึ่ง สอง สาม พัก อย่างเต้นกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม ถัดออกไปอีกมุมหนึ่ง จะเห็นคนหลายวัยทั้งหญิงชาย ช่วยกันทำอาหารไทย
นี่คือ บรรยากาศ โครงการ “เต้นรำ ทำครัวไทย” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดขึ้นในวันเสาร์ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพื่อเปิดพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้ประชาชนทั่วไปได้สร้างสุนทรียะ ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแสดงลีลาศและการทำอาหารไทย พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในศาสตร์ของศิลปวัฒนธรรมสากล ด้านการแสดงลีลาศ รวมทั้งส่งเสริม เผยแพร่และสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย ด้านอาหารประจำท้องถิ่นให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนไทยและต่างชาติ รวมถึงเป็นทางเลือกให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกภาในครอบครัว
โดยมีให้เลือกสองหลักสูตรตามถนัดและความสนใจ ได้แก่ การเต้นรำลีลาศ ใน 4 จังหวะ ประกอบด้วย บีกิน (Bequine) ช่ะช่ะช่า (Cha Cha Cha) วอลท์ (Waltz) และ จังหวะแทงโก้ (Tango) และการทำอาหารไทย 4 ภาค ประกอบด้วย อาหารภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชื่นชอบในศิลปะการเต้นลีลาศและศาสตร์แห่งการทำอาหารไทย ทั้งเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก
คุณแม่ชัชรียา หาวิชา และ ด.ญ.อภิสรา หาวิชา หรือ น้องพิว อายุ 11 ขวบ เรียนอยู่ที่โรงเรียนสตรีบูรณวิทย์ ชั้น ประถมศึกษา ปีที่ 6 เล่าถึงการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ว่า “หนูชอบเต้นรำค่ะ สนุกดี ได้ออกกำลังกายไปด้วยในตัวและหนูกับคุณแม่ก็สามารถเต้นรำด้วยกันได้ค่ะ ที่สำคัญ อาจารย์ต่อและทีมงานใจดี และสอนดีด้วยค่ะ”
หันมาฟากผู้ที่ชื่นชอบทำอาหาร คอร์สนี้ วิทยากรสอนอาหารภาคกลาง ได้แก่ ผัดไทย หมูสะเต๊ะ และห่อหมก โดยวิทยากรจะให้แบ่งกลุ่มไปฝึกปฏิบัติทำอาหารกันตามฐานต่างๆ หลังจากเรียนเสร็จทุกคนจะได้อาหารที่ทำจากฝีมือตัวเองกลับบ้านคนละ 1 ชุด
คราวนี้ลองมาคุยกับหนุ่มน้อยที่ควงคุณแม่มาเรียนทำอาหารอย่าง นายณัฐพล คำเฉลิม หรือ น้องบูม อายุ 16 ปี จากโรงเรียนเทพศิริรนทร์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่อยากมาเรียนทำอาหารในครั้งนี้ ว่า “ที่บ้านคุณย่าชอบทำอาหารให้ทานครับ ผมก็ช่วยคุณย่าทำด้วยครับ ระหว่างที่ช่วยหยิบโน่นหั่นนี่มีความรู้สึกอบอุ่น พร้อมกันนี้ ผมมีความฝัน “อยากเป็นเชฟทำอาหาร” จะได้ทำอาหารให้คุณแม่และคุณย่าทานด้วย อย่างไรก็ดี การมาเรียนทำอาหารครั้งนี้เหมือนผมได้มาค้นหาตัวเองด้วยว่าผมชอบทำอาหารจริงๆ มั้ย ก็ได้คำตอบว่า ชอบ เพราะอาหารไทยมี เสน่ห์ รสชาติ หลากหลายให้เลือกและอาหารในแต่ละภาค มีเสน่ห์แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับการอบรมตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าดีใจมากที่ได้เข้ามารับการอบรมในครั้งนี้ เพราะได้เคล็ดลับและสูตรทำอาหารจากวิทยากรที่มากด้วยความรู้สามารถนำไปใช้ในการทำอาหารทานที่บ้านและหากฝีมือพัฒนาจนทำได้อร่อยอาจทำอาหารขายเป็นอาชีพเสริมได้อีก ส่วนผู้เรียนลีลาศก็บอกว่าถ้ามีโอกาสออกงานก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้และฝึกซ้อมท่าเต้นรำลีลาศได้อย่างสวยงาม และไม่อายใครแล้วเพราะมาเรียนครั้งนี้ได้รับความมั่นใจเพิ่มขึ้นนั่นเอง
หากใครพลาดโอกาสการเข้าร่วมโครงการดีๆแบบนี้ รอโอกาสหน้า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดกันอยู่บ่อยๆ สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ http://www .culture.go.th