xs
xsm
sm
md
lg

ชาวฝรั่งเศส ร่วมสืบสาน “มวยไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สุกัญญา แสงงาม
 
มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ของชาติไทย ชื่อเสียงขจรขจายในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ ที่ถูกกล่าวขานโดยเฉพาะแม่ไม้มวยไทย มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านชั้นเชิงการต่อสู้ ท่าทางในการใช้หมัด ศอก เข่า เท้า ที่สำคัญ การไหว้ครูก่อนชกบนสังเวียนผ้าใบ ที่เต็มไปด้วยลีลาท่วงท่าร่ายรำงดงาม นักมวยจะระลึกถึงพระคุณของครูผู้ฝึกสอน

จากชื่อเสียงที่เลื่องลือของ มวยไทย ทำให้ชาวต่างชาติ ไม่ว่าชายหรือหญิง ต่างให้ความสนใจบินข้ามน้ำข้ามทะเล มาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับครูมวยถึงเมืองไทย หรือบางรายไม่สามารถเดินทางมาได้ ตัดสินใจเลือกเรียนกับค่ายมวยไทย ที่เปิดสอนในต่างแดนแทน

เมื่อ 30 กรกฎาคม 2553 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมวยไทย” ซึ่งตรงกับวันสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ เสด็จขึ้นครองราชย์ มีพระปรีชาสามารถมวยไทย

อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมมือกับ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดการแข่งขันชกมวยไทยโลก “THAI FIGHT THAI CULTURE” ณ สนาม Palais des Sport de Lyon Gerland เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์วัฒนธรรมไทยและปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “มวยไทย” ให้ชาวต่างชาติได้ประจักษ์แก่สายตา

นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เล่าให้ฟังว่า วธ.เดินสายจัด “THAI FIGHT” ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี สหราชอาณาจักร และล่าสุด ที่เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีชาวฝรั่งเศส ให้ความสนใจเข้าชมแน่นสนามกีฬา ตรงนี้นับเป็นความสำเร็จในการเดินสายเผยแพร่ “มวยไทย” ดังนั้น วธ.มีโครงการจะขยายไปยังประเทศอื่นต่อไป เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะการต่อสู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

“ศิลปะมวยไทย ในเชิงของการต่อสู้บนสังเวียนผ้าใบ ในต่างประเทศอาจมีการปรับเปลี่ยนกฎกติกาบ้าง เช่น คนไทยจะชก 5 ยก ส่วนต่างประเทศ จะชกแค่ 3 ยก ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสม แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นมวยไทย โดยเฉพาะแม่ไม้มวยไทย การใช้หมัด ศอก เข่า เท้า” นางสุกุมล กล่าว

ด้าน นายสุปรีชา นาครัตน์ นายกสมาคมคนไทยในเมืองลียง เล่าให้ฟังว่า เมืองลียงมีคนไทยมาอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่มวยไทย โดยสังเกตได้จากมีค่ายมวยกว่า 10 แห่ง มีคนสนใจเรียนเป็นจำนวนมาก ครูมวยส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่ในวงการมวย ถ่ายทอดศิลปะแม่ไม้มวยไทยให้ลูกศิษย์แบบไม่มีกั๊กความรู้ จากการชื่นชอบของชาวฝรั่งเศสและขยันฝึกปรือฝีมือ ส่งผลให้นักชกชาวฝรั่งเศสหลายรายที่มีชื่อเสียงไม่แพ้นักชกของไทย อย่างไรก็ตาม การจัดชกมวยไทย ระหว่างคนไทยและฝรั่งเศส เปรียบเสมือนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 ชาติ ที่สำคัญ การเผยแพร่มรดกภูมิปัญญามวยไทยในต่างแดน ยังกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ชาวฝรั่งเศสมาเที่ยวประเทศไทยด้วย

ขณะที่ นายจรัสเดช อุลิต ผู้ทรงคุณวุฒิมวยไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม แสดงความเห็นว่า อยากให้ชาวต่างชาติเข้าถึงศิลปะการต่อสู้ “มวยไทย” อย่างถูกต้อง เริ่มจากการพิธีไหว้ครู ตรงนี้ค่อนข้างขาดหายไป ทั้งคนไทย ชาวต่างชาติ ผมเคยเห็นเขาไหว้ครูผิด เช่น ปกติจะเวียนขวามือ เขากลับเวียนซ้ายมือ สิ่งที่ต้องการ ขอให้ครูมวยสอนให้ถูกต้อง นอกจากนี้ การเรียนมวยไทย มักจะเน้นการใช้พละกำลังห่ำหั่นต่อสู้บนผืนผ้าใบ เน้นชนะ แตก เลือดกระจาย

ยอมรับว่า วันนี้ คนกลุ่มมาเรียนมวยไทย เพื่อประกอบอาชีพ จะเน้นเรื่องแพ้ชนะ ขณะที่อีกกลุ่มฝึกมวยไทย ต้องการให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียนมวยไทยเพื่อประโยชน์อะไร ถือว่าเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ “มวยไทย” จากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น