xs
xsm
sm
md
lg

เด็ก 8 ขวบเลียนแบบ “แรงเงา” ฟื้นแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาการเด็ก 8 ขวบเลียนแบบละครดัง “แรงเงา” ผูกคอจนหวิดดับ อาการดีขึ้น ลืมตา ขยับแขนขา และหายใจเองได้แล้ว ยันไม่มีอาการทางจิตร่วม แนะครอบครัวใส่ใจเรตติ้งที่กำหนด ย้ำ น.18+ ต้องออกอากาศหลัง 4 ทุ่ม เท่านั้น

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงความคืบหน้าอาการเด็กหญิงวัย 8 ปี ที่เลียนแบบฉากผูกคอตายในละครแรงเงา และรายการคนอวดผี จนเกือบเสียชีวิต ว่า เด็กหญิงคนดังกล่าวออกจากห้องไอ.ซี.ยู.แล้ว ล่าสุดสามารถลืมตา ขยับแขนขาได้เอง และสามารถหายใจได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว ส่วนอาการทางสมองนั้น ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง จึงจะสามารถตรวจผลกระทบกระเทือนของสมองได้

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การที่เด็กเลียนแบบผูกคอตามละครนั้น เป็นเพราะมีอาการทางจิตร่วมด้วยหรือไม่ ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีอาการทางจิต แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการเล่นเลียนแบบละครของเด็กและเกิดพลาด ขณะที่ครอบครัวของเด็กก็ไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีปัญหา พ่อของเด็กดูแลเด็กเป็นอย่างดี แต่อาจเห็นว่าเป็นช่วงปิดเทอม จึงปล่อยให้เด็กดูรายการตอนเวลาดึกได้

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้ครอบครัวอย่ามองข้ามสื่อ เพราะเด็กมักจะมีการเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ที่ออกมาตามสื่อ ที่สำคัญ ควรใส่ใจคำเตือนของแต่ละรายการ และปฏิบัติตามด้วย ขณะที่ผู้ที่ผลิตรายการทีวีโดยเฉพาะรายการ หรือละครที่มีเรตติ้งอยู่ในระดับ น.18+ ควรออกอากาศเฉพาะหลังเวลา 22.00 น. และผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ ไม่ควรรับชมรายการประเภทนี้ตามลำพัง” นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การผูกคอเลียนแบบละครนั้น ผู้ปกครองต้องมีการให้ความรู้กับเด็กระหว่างการดูละครว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี และบอกถึงคุณและโทษของการกระทำที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการดูแลเด็กเวลาอยู่กับเพื่อน ไม่ควรให้เด็กเล่นกันตามลำพัง ทั้งนี้ สื่อเองควรมีการจัดเวลาและควบคุมภาพที่ไม่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของเด็กและในประเทศไทยควรมีการจัดช่วงเวลาของสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก ในช่วงที่เป็นเวลาว่างของเด็กก็ควรมีรายการที่สร้างความบันเทิงและให้ความรู้กับเด็ก เช่น การ์ตูน วาไรตี และศีลธรรม

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของเด็กติดเกมจนฆ่ามารดานั้น จากผลการวิจัยพบว่าเด็ก100% จะเล่นเกม แต่เด็กที่ติดเกมจะพบตัวเลขอยู่ที่ 15% ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกมนั้นมีหลายปัจจัย ซึ่งสามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็กได้จาก 4 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.เด็กมีการใช้เวลาการเล่นเกมนานกว่าเดิมจาก 1 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น 2.มีการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น หากไม่ได้เล่นเกมจะมีอาการโมโหหงุดหงิด 3.มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต่างจากเดิม อาทิ มีการขโมยเงินเพื่อไปเล่นเกม และ 4.เสียการเรียนและพลาดการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดทั้ง 4 ปัจจัยนั้น จะมาจากสภาพแวดล้อมและสังคมเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน และคนในสังคม รวมถึงการขาดความอบอุ่นจากครอบครัวเวลามีปัญหาแล้วไม่รู้จะปรึกษาใคร เป็นต้น

“แนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นที่ผู้ปกครองที่จะต้องทำการดูแลและควบคุมเรื่องพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็ก และควรมีเวลาที่กำหนดการเล่นที่ชัดเจน ซึ่งแต่ละเดือนทางสถาบันจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรมาปรึกษาในเรื่องการติดเกมส์และปัญหาพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือพฤติกรรมการเลียนแบบ เดือนละประมาณ 1,200 คน” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น