สธ.เตรียมออกระเบียบใหม่ บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็น “พนักงาน กสธ.” หากพลาดโควตาข้าราชการ สางปัญหาพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวก่อม็อบ ฟุ้งเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า เข้าสิทธิประกันสังคม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมได้ตั๋วพิจารณาเป็นข้าราชการก่อนหากมีตำแหน่งว่าง เริ่ม ม.ค.56
วันนี้ (30 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่อาคารสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการจัดเวทีสาธารณะ : วิกฤติพยาบาล “ระดมปัญญาร่วมหาทางออก” หลังกรณีมีกลุ่มพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวออกมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาที่ สธ.เคยรับปากว่า จะบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 17,000 คน ให้เป็นข้าราชการภายในสิ้นงบประมาณ 2555 แต่ยังไม่มีวี่แวว ว่า ปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราวในระบบมีทั้งสิ้น 76,000 คน ใน 21 สาขาวิชาชีพ โดยขณะนี้ได้มีการพูดคุยในระดับนโยบายร่วมกับทีมรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินกำลังคนที่ สธ.ขาดแคลนอย่างแท้จริง ว่า มีสาขาวิชาชีพใดบ้าง และมีจำนวนเท่าไร เพื่อให้ตัวเลขทั้งหมดตรงกัน โดยจะทราบผลภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำมาวางแผนร่วมกันว่า ภายใน 3 ปีจะสามารถบรรจุข้าราชการได้จำนวนเท่าไรในแต่ละปี ส่วนลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ สธ.จะดำเนินการบรรจุให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน กสธ.) ก่อน เพื่อรอบรรจุเป็นข้าราชการต่อไป ซึ่งหากมีอัตราข้าราชการก็จะประเมินการทำงานพนักงาน กสธ.ก่อนลูกจ้างชั่วคราว
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สธ.ได้ยกร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขใหม่ เรื่องเงินบำรุง เพื่อเตรียมบรรจุลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นพนักงาน กสธ.เรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งการบรรจุเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ 2.กลุ่มสายสนับสนุน อาทิ ธุรการ บัญชี และ 3.กลุ่มสายผู้เชี่ยวชาญ อาทิ สถาปนิก วิศวกร ซึ่งเงินเดือนพนักงาน กสธ.จะสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า โดยบัญชีเงินเดือนและข้อระเบียบในการลาจะคล้ายคลึงกับข้าราชการ ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลด้วยระบบประกันสังคม เนื่องจากในอนาคตมาตรฐานสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนจะคล้ายคลึงกัน ส่วนความกังวลในเรื่องความก้าวหน้า หากเป็นผู้มีความสามารถก็มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ นอกจากนี้ แม้จะไม่มีบำเน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ แต่จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยหักจากเงินเดือนประมาณ 3-5% โดยมีรัฐบาลสมทบเงินในจำนวนที่เท่ากัน และเมื่อเงินกองทุนโตขึ้นก็จะนำเข้าสู่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีผลกำไรก็จะแบ่งให้กับสมาชิกทุกคน
“ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรก สธ.จะขออัตรากำลังข้าราชการจาก ก.พ.จำนวน 5,800 อัตรา งบประมาณ 4,200 ล้านบาท ส่วนพนักงาน กสธ.ของบประมาณปีละ 1,700 ล้านบาท ซึ่งขอผ่านเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดไว้ว่าเป็นค่าจ้างบุคลากร จากนั้นจัดสรรตรงไปยังโรงพยาบาลในหมวดเงินบำรุงโรงพยาบาล สำหรับจ้างพนักงาน กสธ.โดยไม่ผ่านกระทรวงฯ” รองปลัด สธ.กล่าว
นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนงานที่วางไว้ คาดว่า จะเชิญตัวแทนพยาบาลและลูกจ้างชั่วคราวเข้ามาเป็นคณะทำงานผ่านกองทุน กสธ.ซึ่งมี 3 ฝ่าย คือ นายจ้างหรือโรงพยาบาล ภาครัฐหรือสธ. และลูกจ้าง เพื่อระดมความคิดเห็นในการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เสร็จสิ้นภายใน พ.ย.นี้ และจะผลักดันออกเป็นระเบียบให้ได้ใน ธ.ค. จากนั้นจะเริ่มบรรจุข้าราชการตามอัตราที่ ก.พ.จัดสรร และปรับเปลี่ยนลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงาน กสธ.ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน มิ.ย. 2556 ทั้งนี้ เมื่อยกร่างระเบียบใหม่เสร็จแล้วจะส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.เพื่อลงนามในระเบียบต่อไป