xs
xsm
sm
md
lg

“จอน” เสนอจ่ายภาษีสุขภาพขั้นต่ำ 500 บ./ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนรักหลักประกันฯ เสนอจ่ายภาษีสุขภาพขั้นต่ำ 500 บาทต่อปี ช่วยพยุงความมั่นคงระบบหลักประกันสุขภาพได้ ส่วนการรวม 3 กองทุนควรรวมเฉพาะค่ารักษาพยาบาล จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ด้าน ทีดีอาร์ไอ แนะใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นพื้นฐานของทุกคน หากต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มให้จ่ายตามสิทธิ

นายจอน อึ้งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวในการอภิปรายกลุ่ม “ความมั่นคง ความยั่งยืน ของระบบหลักประกันสุขภาพ : ระบบการเงินการคลังที่เป็นธรรม เหมาะสมกับสังคมไทย” ภายในการประชุมภาคประชาชน “หนึ่งทศวรรษการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม 2555 ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยมีความมั่นคง แต่มีโอกาสล้มได้ ทั้งนี้ ประชาชนทยอยเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมโรคที่รักษาแพงเกือบทั้งหมด ทั้งมะเร็ง เอดส์ และไตวาย ทำให้การล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาแพงน้อยลงไปมาก โดยเฉพาะคนชั้นกลางจากเดิมเข้าโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว แต่จุดอ่อนคือยังไม่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับความจริง ว่า หากประชาชนทั้งประเทศใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่าใช้จ่ายจะไม่พอ แต่หากจะทำให้ระบบยั่งยืน จำเป็นต้องไปถึงเป้าหมายให้คล้ายประเทศอังกฤษและแคนาดา ซึ่งประชาชนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพฯ หากทำได้จะทำให้ระบบเอกชนเล็กลง
นายจอน อึ้งภากรณ์ - ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายจอน กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายคนกังวล ว่า งบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ จะเอามาจากส่วนไหน ต้องถามกลับว่า เรื่องสุขภาพของคนทั้งประเทศควรอยู่อันดับไหนกันแน่ ซึ่งจริงๆ แล้วการรับบริการสุขภาพ ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของคนทุกคนที่ต้องได้รับ เพื่อให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตาม การเก็บเงินจะไม่ใช้คำว่า ร่วมจ่าย แต่ควรใช้คำว่า ซัปพลีเมนต์ (Supplement) คือ การเก็บเพิ่มเติมจากภาษีปกติ ซึ่งไม่ใช่ร่วมจ่ายเหมือน 30 บาท โดยทุกคนที่เสียภาษีจะจ่ายตามอัตราภาษีไม่เท่ากัน อาทิ คนมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น อย่างน้อยสุดร้อยละ 5 ก็จ่ายปีละ 500 บาท เป็นค่าประกันสุขภาพ หรือตกประมาณเดือนละ 40 บาทนั่นเอง ส่วนคนที่เงินเดือนสูงขึ้นบางคนอาจจ่ายร้อยละ 10 หรือประมาณ 1,000 บาทต่อปี เป็นต้น ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำก็ไม่ควรจัดเก็บภาษีสุขภาพ ทั้งนี้ หากทำเช่นนี้จะทำให้ระบบสุขภาพเดินไปได้อย่างยั่งยืน

การแย่งชิงของ รพ.เอกชน มีผลต่อระบบสุขภาพแน่นอน ทั้งการขยายตัว ทั้งบุคลากร ต้องทำให้ รพ.เอกชน เลิกเป็นกาฝาก เลิกเป็นคนที่ออกเงินการศึกษา เลิกดึงบุคลากรของรัฐไปทำงาน อย่างคนที่ได้ทุนหรือคนที่จะไปเป็นหมอเอกชน ก็ควรไปเรียนเอกชน แต่คนที่เรียนในมหาวิทยาลัยรัฐก็ต้องได้เรียนฟรี และมีสัญญาระยะยาว และไม่มีการจ่ายเงินเพื่อหลุดจากระบบการทำงานให้ท้องถิ่น อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ และอาจต้องเพิ่มเงินเดือนให้บุคลากรในระบบหลักประกันสุขภาพฯด้วย โดยต้องทำให้ภาครัฐโตขึ้น และภาค เอกชนหดลง” นายจอน กล่าว

นายจอน กล่าวต่อไปว่า ประเด็นการรวมกองทุนต้องเกิดขึ้นในลักษณะเอาเรื่องการบริการสุขภาพมารวมกัน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความเท่าเทียม คนในระบบประกันสังคมต้องจ่ายเงินค่ารักษากลายเป็นเก็บเงินสองต่อ คือ ต้องจ่ายภาษีและประกันสังคม ตรงนี้ต้องเลิกเก็บเงินประกันสังคมในส่วนรักษาพยาบาล โดยให้มาเก็บในระบบหลักประกันสุขภาพฯ แทน และต้องให้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ มาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ด้วย เรียกว่า ประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ให้มาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพกรณีรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้เท่าเทียมอย่างแท้จริง ส่วนคนนอกระบบก็ต้องให้ความสำคัญและครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย ต้องได้สิทธิเหมือนคนในระบบหลักประกันสุขภาพทุกประการ โดย 10 ปีต่อไปต้องดึงประชาชนให้เข้าระบบหลักประกันสุขภาพฯมากขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 25

น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพไทยยังไม่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม เนื่องจากหลักประกันสุขภาพใช้งบประมาณจากรัฐประมาณแสนกว่าล้านจากสองแสนกว่าล้าน คิดเป็นร้อยละ 54 สิทธิสวัสดิการข้าราชการประมาณร้อยละ 33 และประกันสังคมร้อยละ 13 รวมไปถึงระบบเบิกสุขภาพไทย มีทั้งระบบเบิกจ่ายตามจริง กับระบบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียม ทั้งการเลือกสถานที่ในการรับการรักษา และคุณภาพการรักษา ทั้งนี้ การแยกส่วนบริการจัดการกองทุนประกันสุขภาพทั้งสามกองทุน ทำให้เกิดต้นทุนในการบริหารจัดการที่ซ้ำซ้อน และขาดอำนาจต่อรองในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งในประเทศพัฒนาไม่มีแยกส่วนแบบนี้ ดังนั้น ควรนำทั้งสามกองทุนหรือหลายกองทุนสุขภาพเข้าระบบทั้งหมด เพื่อง่ายต่อการบริหารและไม่ซ้ำซ้อน

น.ส.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า รูปแบบการคลังของระบบประกันสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีเพียงระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการของภาครัฐ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอยู่ระบบไหนต้องอยู่ระบบนั้นตลอด ไม่โอนไปโอนมา อย่างประกันสังคมไทย ดูแลแค่ 60 ปี และถูกย้ายไปอีกระบบ ดังนั้น ควรเลือกระบบใดระบบหนึ่ง ทั้งนี้ จากการสำรวจในต่างประเทศจะใช้ระบบจ่ายตามจริง และให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมจ่ายด้วย ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะใช้เรื่อยๆ ส่วนการดูแลควรเป็นหน่วยงานเดียว ไม่ใช่แยกกัน ซึ่งตรงนี้ต้องมีการหารือกันว่าจะเป็นหน่วยงานใด อาจเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

“ข้อเสนออาจไม่จำเป็นต้องรวมกัน เพราะกลุ่มอาชีพต่างกันมีความต้องการต่างกัน แต่ต้องมีแกนหลัก โดยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นพื้นฐานของคนทุกคน ส่วนประกันสังคม หากจะเก็บเงินก็ควรเก็บเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่ให้เพิ่มเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ซ้ำซ้อน เช่น มีการชดเชยเวลาป่วย หรือลางาน หรือสิทธิการบริการรพ.เอกชน โดยต้องถอดออกมาและคำนวณเป็นเงิน นอกนั้นไม่มีสิทธิเก็บ เหมือนกับระบบสิทธิสวัสดิการข้าราชการก็จะมีสิทธิเท่ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากจะมีสิทธิเพิ่มก็ต้องตอบว่า คือ อะไร ซึ่งปัจจุบันคือ จ่ายตามจริง เดินไปตามรพ.ต่างๆได้ และควรมีการจัดเก็บภาษีสุขภาพ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าเราใช้เงินเท่าใดของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกัน” น.ส.เดือนเด่น กล่าว

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2553 พบว่า ค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพไม่ถึงร้อยละ 4 ของค่าใช้จ่ายประชาชาติ หากจะเพิ่มเป็น 5-6 บาทก็ไม่สะเทือน แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า รัฐบาลประสบปัญหางบประมาณขาดดุล หากเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะยิ่งขาดดุล และเชื่อว่าคงเป็นเช่นนี้อีกสักพัก อย่างไรก็ตาม สาเหตุของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา คือ ค่ายา ค่าเทคโนโลยีใหม่ และการขยายระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งแต่ละประเทศคงไม่แตกต่าง การจะลดค่าใช้จ่ายสิ่งสำคัญ คือ ต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายสุขภาพก็จะลดลง รวมทั้งปัญหาอุบัติเหตุด้วย เพราะคนดูแลตัวเองมากขึ้น

“หากจะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ควรเน้นการปรับพฤติกรรมสุขภาพ การดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หากส่งเสริมป้องกันโรคได้จะลดค่าใช้จ่ายได้มาก และการจะเพิ่มรายได้เข้าสูระบบอย่างยั่งยืนด้วยการจ่ายภาษีสุขภาพ อาจต้องคุยว่าถึงเวลาจะจ่ายภาษีสุขภาพแบบทางตรงหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศออกมาในรูปการจ่ายภาษีตรงๆ ทางสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป ก็ทำกัน ส่วนการจ่ายในรูปของประกันสังคม ก็อยู่ที่การออกแบบ ซึ่งต้องคุยกันว่าประชาชนยอมหรือไม่” นพ.ถาวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น