xs
xsm
sm
md
lg

“อุดร” เมืองขุมทอง แรงงานลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..รัชญา จันทะรัง

ลัดเลาะตะเข็บชายแดนไทย-ลาว ที่มีเพียงแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่าง อ.สังคม จ.หนองคาย ของไทย และเมืองสังข์ทอง แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พื้นที่ที่คนลาวบางส่วนใฝ่ฝันอยากข้ามแดนมาหาอนาคตที่ฝั่งไทยให้จงได้...

ธนพงษ์ สุระคาย หรือ พี่พงษ์ ผู้ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิรักษ์ไทย ประจำสำนักงานอุดรธานี ดูแลพื้นที่ภาคอีสานตอนบน เล่าว่า เมื่อแรงงานลาวข้ามชายแดนตรง อ.สังคม มาได้ส่วนใหญ่จะเดินทางต่อมายัง จ.อุดรธานี ถือเป็นศูนย์กลางแรงงานสัญชาติลาว มาอาศัยถึง 95% ส่วนที่เหลือเป็นของแรงงานกัมพูชาและพม่า แรงงานเหล่านี้จะเข้ามาทำงานในภาคการเกษตร เช่น ยางพารา จะมากันแบบครอบครัว หรือทำงานก่อสร้าง ส่วนภาคบริการไปทำที่ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร รวมๆ กันแล้วกว่า 1,000 คน

พี่พงษ์ เล่าต่อว่า ตนเองดูแลโครงการส่งเสริมการป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (PHAMIT2) โดยจะเข้าไปให้ความรู้ หากพบว่ามีความกลุ่มเสี่ยงพบเชื้อเอชไอวี จะประสานเครือข่ายโรงพยาบาลรัฐเพื่อเข้ารับการบริการ

...ณ แคมป์ที่พักคนก่อสร้างวัดป่าภูก้อน อ.นายูง จ.อุดรฯ เราได้เจอกับ พายและมัน คู่สามีภรรยาชาวลาว ที่ตัดสินใจยอมจากลูกเพื่อมาหาเงินสร้างอนาคตที่ดีให้ครอบครัว

พี่พาย บอกว่า ตนเดินทางมาจากลาวเมื่อเดือนสิบสองปีที่แล้วกับเพื่อนทั้งหมด 5 คน ก่อนที่จะมาที่นี่ก็จะปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ (ข้าวที่ปลูกบนภูเขา) มีเงินพอใช้แต่ไม่เงินที่จะสร้างบ้าน ตัดสินใจมาทำงานที่นี่ เขารับประกันว่าจะได้ค่าแรงวันละ 250 บาท

“ข้าวที่ปลูกที่บ้านจะเอาไว้กินแต่บางปีก็ได้เฮ็ด บางปีก็ไม่ได้เฮ็ด และก็มีการปลูกเดือยเอาไปขายที่ฝั่งจีน ซึ่งเขาจะมาตั้งเป็นบริษัทเก็บเอาเอง เรามีหน้าที่ปลูกก็เลยตั้งสินใจมาทำงานที่ไทย อยากเอาเงินไปสร้างเฮือน ให้ลูกไปโรงเรียน พอมาทำงานที่นี่แรกๆ ก็คิดฮอดบ้านอย่างแรง คิดฮอดลูกเวลาคิดถึงก็จะโทรศัพท์หาเอา ตอนนี้คนโตเรียน ม.4 แล้ว” พี่พายและพี่มัน ยังบอกด้วยว่า อยากมาอยู่ถาวรเพราะหาเงินหาทองก็ง่าย ของกินราคาไม่แพง

ขณะที่ คำมั่น อินทวงศ์ ชาวเมืองสังข์ทอง อีกหนึ่งแรงงานลาวที่พาลูกเข้ามาขายแรงงานสวนยางพาราฝั่งไทย เล่าว่า รู้จักกับพ่อใหญ่เจ้าของสวนยางพารา เพราะเป็นหลานของภรรยา แกให้มาช่วยปลูกยางพารา กินอยู่กับพ่อใหญ่ทุกอย่างจึงไม่ค่อยได้ใช้จ่ายอะไร ถ้าทำเสร็จจะกลับบ้านเอาเงินไปสร้างบ้านต่อให้เสร็จ ก่อนหน้านี้ เคยไปทำงานที่ จ.สงขลา เป็นคนงานบริษัทแปรรูปอาหารทะเลรายได้ดีพอทำได้ 2 ปีก็กลับบ้านเพราะครอบครัวที่บ้านไม่มีใครดูแลเนื่องจากมีลูกน้อย 2 คน
อยากอยู่ที่ลาวมากกว่า เพราะบ้านเกิดเมืองนอนเราอยู่ที่โน้น แต่ถ้าพ่อใหญ่อยากให้มาช่วยก็มาได้

ส่วนแรงงานลาวในภาคบริการนั้น พี่พงษ์ เล่าว่า แรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในตัวเมืองอุดรนั้นส่วนใหญ่ขายบริการโดยใช้พาสปอร์ตทำให้เข้ามาอยู่ได้ 3 เดือนพอครบกำหนดก็กลับบ้านแล้วก็เข้าเมืองมาใหม่ที่ด่านหนองคาย แต่ถ้าเป็นภาคเกษตรจะเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายนายหน้าฝั่งลาวส่งต่อมาให้นายหน้าฝั่งไทย

เหตุที่แรงงานลาวเข้ามาทำงานในภาคนี้เยอะเพราะเวลาที่ลูกหลานตัวเองกลับไปบ้านจะมีเงิน มีทอง มีบ้านหลังใหญ่โต ส่งผลให้แรงงานลาวเข้ามาทำงานในภาคบริการกันเยอะ ในความจริงแล้วผู้หญิงทุกคนมีศักดิ์ศรีแต่แรงจูงใจของรายได้ทางเศรษฐกิจมันสูงกว่าก็เลยตัดสินใจมาทำ จากที่ได้พูดคุยเขาบอกว่าจะทำประมาณ 5 ปีแล้วกลับไปบ้านที่ลาวเพื่อประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เสริมสวย ตัดผ้า แต่ ณ เวลานี้ทางเลือกนี้ดีที่สุด แต่หลายคนก็อยากกลับไปมีครอบครัวซึ่งเคยมีอยู่หนึ่งกรณีที่ได้แต่งงานโดยบอกกับสามีว่าที่ต้องทำอาชีพนี้เพื่อช่วยเหลือครอบครับซึ่งสามีเข้าใจและยอมรับได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะบอกกับคนอื่นว่ามาทำงานตามร้านเสื้อผ้า ส่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ตัวเมืองอุดร” พี่พงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น