xs
xsm
sm
md
lg

รพ.หนี้พุ่งหลังแบกค่ารักษาแรงงานผิด กม.ชี้เป็นมนุษยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายมากถึง 1.3 ล้านคน ส่งผลกระทบบริการด้านสุขภาพ ทำโรงพยาบาลหลายแห่งแบกรับหนี้อื้อ เหตุไม่มีการจ่ายภาษีหรือเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ ผอ.รพ.อุ้มผาง เตือนอย่ากังวลเรื่องเงินจนลืมเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ละโรงพยาบาลต้องหาทางบริหารจัดการให้ได้ ชี้ หากไม่ดูแลอาจเกิดโรคระบาดเข้าไทยได้

วันนี้ (15 ต.ค.) ที่โรงแรมที เค พาเลซ กรุงเทพฯ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายในงานประชุมวิชาการ เรื่อง “สุขภาพแรงงานข้ามชาติ : ทางออกที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ” ว่า ขณะนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติในระบบสาธารณสุขไทย โดยจะต้องรับทราบสภาพปัญหา และความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการภาครัฐและเอกชนในการให้บริการสุขภาพกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมข้อเสนอในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรในระบบสาธารณสุข เนื่องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสุขภาพไม่ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการบริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค ทำให้ภาระในการดูแลสุขภาพของประชาชนกลุ่มนี้ตกอยู่กับสถานพยาบาล ซึ่งขณะนี้สถานพยาบาลหลายแห่งมีกำลังคนไม่เพียงพอต่อสถานการณ์

หลังจากนี้ จะต้องมีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอย่างจริงจังว่า ต้องการกำลังคนในระบบสาธารณสุขจำนวนเท่าไร เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับการบริการทั้งคนไทย แรงงานข้ามชาติ และผู้ย้ายถิ่น ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนขึ้นหลังได้หารือกับร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)” รองปลัด สธ.กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยมีอยู่ประมาณ 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น คนกลุ่มน้อย ชาวเขา คนไร้รัฐ จำนวน 513,792 คน ผู้อพยพลี้ภัยตามค่ายอพยพชายแดนไทย-พม่า อีกราว 137,815 คน ชาวต่างด้าว เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานอีก 839,913 คน แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยอีก 886,507 คน และแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงานอีก 1,339,986 คน และกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งไม่มีตัวเลข อย่างไรก็ตาม องค์กรแรงงานระหว่างประเทศพบว่าคนเหล่านี้มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของประเทศปีละ 60,000 ล้านบาท

นพ.ระพีพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาคือการเข้ารับบริการด้านสุขภาพก็มากขึ้นด้วย ซึ่งก่อให้เกิดภาระทางการเงินของโรงพยาบาลหลายแห่ง จนเกิดข้อถกเถียงกันว่าไม่ธรรมกับสุขภาพไทยหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการจ่ายภาษี หรือร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ แต่ทางกลับกันเรื่องสิทธิมนุษยชนก็สำคัญ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องบริหารจัดการกันเอง บ้างก็ใช้เงินกองทุนสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล หรือบริหารจัดการร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ แต่สุดท้ายก็ยังมีภาระหนี้สิน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ต้องระวัง คือ ปัญหาโรคภัยที่ตามมา หากไม่ดูแลอาจเกิดการระบาดมาไทยได้ ซึ่งจากข้อมูลโรงพยาบาลชายแดนต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่า การเจ็บป่วยของแรงงานกลุ่มไม่มีสัญชาติไทยอัตราการใช้บริการสูงที่สุดมีมาลาเรีย ปอดบวม ไข้รากสาด

ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้ระบบสาธารณสุขไทยกำลังมองในเรื่องของจำนวนเงินมากเกินไป เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนจากการดูแลรักษากลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มคนไร้สิทธิและสถานะทางสัญชาติ จึงอยากให้มองกลุ่มคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์มากกว่า เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากไม่ดูแลโรคระบาดอาจเข้ามาสู่ไทยได้

อย่าง รพ.อุ้มผาง มีหนี้อยู่ปีละประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วย ทางโรงพยาบาลก็ต้องบริหารจัดการกันเอง โดยใช้วิธีขอรับบริจาคบ้าง ขอภาคเอกชนในเรื่องเครื่องมือแพทย์บ้าง อย่างไรก็ตาม ยิ่งใกล้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เท่าไร ยิ่งมีปัญหาแน่ๆ ภาครัฐต้องเตรียมรับมือตรงนี้ด้วย” ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าว

น.ส.ณหทัย จุลกะรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า แรงงานส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจาก จ.ตาก กาญจนบุรี และระนอง ซึ่งมาทำงานตามโรงงานต่างๆ เฉลี่ยมีประมาณแสนกว่าคน โดยแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพมาก เพราะสุขลักษณะไม่ดีพอ ทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยโรคที่พบมากสุด คือ อุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย และวัณโรค ปัญหาคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ทำให้ รพ.ต้องมีหนี้ค้าง ซึ่งไม่รักษาก็จะไม่ได้ เพราะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยในปี 2551-2555 รพ.ต้องใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์รวมแล้วกว่า 39 ล้านบาททีเดียว และหากในอนาคตมีการเปิดการค้าเสรีจะต้องมีปัญหาเพิ่มแน่นอน เรื่องนี้อยากให้ สธ.เตรียมพร้อมและเข้ามาช่วยเหลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น