xs
xsm
sm
md
lg

กทม.พร้อมให้ตรวจสอบลอกท่อ-อุโมงค์ยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษก กทม.ยัน กทม.พร้อมให้ตรวจสอบขุดลอกท่อระบายน้ำและอุโมงค์ยักษ์ของ กทม.งง กบอ.ชอบวิจารณ์การทำงานในแง่ลบทั้งที่เวลาประชุมก็ไม่มีปัญหาอะไร

นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ในภาพรวม กทม.ได้ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำไปแล้วร้อยละ 99.5 การขุดลอกคูคลองในพื้นที่ 18 เขตเร่งด่วน จำนวน 644 คลอง ความยาวรวม 988 กิโลเมตร คืบหน้าไปร้อยละ 96.33 ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 59 และ 67 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำฝนรายเดือนประจำเดือนกันยายน 2555 วัดได้สูงถึง 842.5 มิลลิเมตร ซึ่งหากเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีที่วัดได้ประมาณ 1,500 มิลลิเมตรแล้ว นับว่า ปริมาณน้ำฝนเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวสูงกว่าครึ่งของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี จึงส่งผลให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำ เนื่องจากระบบระบายน้ำของ กทม.รองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง และใช้เวลาในการระบายน้ำที่ท่วมขังให้กลับสู่สภาวะปกติประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งนี้ กทม.ได้ขอติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม แต่ในพื้นที่ที่อยู่นอกประตูระบายน้ำอาจเป็นปัญหา ได้แก่ เขตคลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี และ หนองจอก เนื่องจาก กทม.ต้องการที่จะเปิดพื้นที่ท้องคลองเป็นแก้มลิง ดังนั้น จึงต้องจำกัดปริมาณน้ำที่จะปล่อยเข้าเมือง โดยมีการพร่องน้ำในคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน และ กทม.ได้ประสานทางกรมชลประทานแล้วให้ช่วยระบายน้ำออก ให้มากที่สุด

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการลอกท่อระบายน้ำนั้น ที่ผ่านมา กทม.ได้บันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งร่วมมือกันด้วยดีมาโดยตลอด แต่ภายหลังเกิดอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่รับงานตรงจากรัฐบาล ทั้งการขุดลอกคูคลอง และการลอกท่อระบายน้ำ โดยกรณีที่พบกระสอบทรายอยู่ในท่อระบายน้ำกว่า 100 กระสอบ ที่เขตมีนบุรีนั้น ตนเองได้ประสานกับทางเขตแล้ว ซึ่งเขตได้รายงานว่าไม่ได้รับรายงานจากกรมราชทัณฑ์ ว่า พบกระสอบทรายแต่อย่างใด โดยตามหลักวิศวกรรมทรายปริมาณมากขนาดนั้น ไม่สามารถลงไปอยู่ในท่อระบายน้ำได้ อีกทั้งกระสอบทรายก็มีสีขาวเหมือนใหม่ แต่หากเกิดปัญหาก็ควรมีการประสานงานร่วมกัน

ทั้งนี้ เขตมีนบุรี มีถนนเพียง 2 สายเท่านั้นที่เกิดน้ำท่วม คือ ถ.สุวินทวงศ์ ที่ดูแลโดยกรมทางหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างการสร้างสะพานยกระดับ และ ถ.ราชอุทิศ-เลียบวารี ที่ กทม.ดูแล อยู่ระหว่างการปรับปรุงยกระดับถนน ซึ่งมีประชาชนร้องเรียน ว่าบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างขวางทางน้ำ ตนจึงประสานไปยัง สำนักการโยธา ให้แจ้งผู้รับเหมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สอบถามไปยังชาวบ้านในพื้นที่เขตมีนบุรี ได้รับคำตอบว่า ไม่มีใครทราบเรื่องถุงทราย ว่า อยู่ที่จุดใด ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า การเข้าลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีการประสานไปยังผู้บริหาร กทม.แล้วนั้น นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัด กทม.ได้แจ้งว่า ได้มีการประสานเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงจุดอ่อนน้ำท่วมขังร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้มีการประสานเรื่องการขุดลอกท่อแต่อย่างใด

โฆษก กทม.กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นเอกสารให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบโครงการขุดลอกท่อระบายน้ำของ กทม.และระบบอุโมงค์ยักษ์นั้น กทม.ไม่รู้สึกกังวล พร้อมให้ตรวจสอบ และยินดีชี้แจงกับหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งตนอยากฝากถึงท่านโฆษกซองน้ำตาลด้วยว่า ที่ยื่นไปทั้งหมดนั้น ถูกยกเรื่องมาแล้วกี่เรื่อง และจับผู้กระทำผิดไปบ้างได้ไหม ถ้าไม่ใช่ช่วงที่ใกล้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เวลานี้ก็คงไม่ออกมาดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือกันเช่นนี้ ตนเองสงสารนายกรัฐมนตรี แต่บริวารทำงานอย่างนี้ จะไปขอความร่วมมือกับหน่วยงานไหนได้ ถ้า กทม.ไม่ทำอะไรเลย น้ำฝนที่ตกสะสมเดือนกันยายนกว่า 840 มิลลิเมตร ก็คงไม่ระเหยไปในอากาศได้ง่ายๆ เจ้าหน้าที่ กทม.ไม่ได้ทำงานเฉพาะต่อหน้าสื่อ แต่เราทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำแห้งใน 2-3 ชั่วโมง ตนเองรู้สึกสงสารเห็นใจเจ้าหน้าที่ กทม.ที่ไม่ได้หลับไม่ได้นอนทั้งคืนเพื่อนำน้ำออกจากผิวการจราจร ซึ่งตนขอให้ทำงานร่วมกันดีกว่าตั้งข้อสงสัย ส่วนการร่วมงานกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นั้นไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย ซึ่ง กบอ.ก็ไม่เคยติติงหรือชี้แนะอะไร แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เวลาอยู่นอกห้องประชุม แล้วให้ข่าวกับสื่อมวลชนแล้ว กบอ.จึงชอบวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กทม.ในแง่ลบ
กำลังโหลดความคิดเห็น