xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกหนักทำ กทม.ท่วมขัง 38 จุดถนนสายหลัก ชี้ข้อมูลไม่ตรงกันเหตุสถานีวัดฝนคนละจุดกับอุตุฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ฝนตกหนักทำ กทม.ท่วมขัง 38 จุดถนนสายหลักแต่เร่งระบายสัญจรได้ปกติแล้ว “สัญญา” ชี้ กทม.ไม่ได้ใช้สถานีวัดฝนจุดเดียวกับกรมอุตุฯ ทำข้อมูลฝนไม่ตรงกัน โฆษก กทม.วอนประสานจุดพบถุงทรายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่คอยจับผิด

วันนี้ (28 ก.ย.) นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกรณีที่ นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา วัดปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งเดือนกันยายนได้ 340.7 มิลลิเมตร ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลของ กทม.ที่ระบุว่า มีปริมาณสะสมเดือนกันยายนที่ 721 มิลลิเมตร และสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยามีฐานข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณฝน 30 ปี และ 50 ปี ซึ่งที่สูงที่สุดที่ฝนตกมากที่สุดเดือนกันยายน ในกรุงเทพฯ คือ ปี 2515 วัดได้ 676.3 มิลลิเมตร และไม่มีข้อมูลฐาน 100 ปี

นายสัญญา กล่าวว่า กทม.มีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ที่ศาลาว่าการ กทม.2 ซึ่งมีระบบในการเก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมรายงานเหตุการณ์ได้ในเวลาจริง (เรียลไทม์) ส่วนปริมาณน้ำฝนสะสมในเดือนกันยายนขณะนี้ได้สูงถึง 825.5 มิลลิเมตร แล้ว และในวันนี้ก็พบกลุ่มฝนกระจายปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าจะมีฝนตกตลอดทั้งวัน ตนเองจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามกรณีข้อมูลปริมาณน้ำฝนของ สนน.และกรมอุตุฯ ไม่ตรงกันนั้น เนื่องจากมีจุดวัดน้ำฝนคนละแห่ง ระบบและเกณฑ์การวัดอาจจะแตกต่างกัน ส่วนที่ตนเองเคยระบุว่า วัดปริมาณน้ำฝนได้สูงสุดในรอบ 100 ปีนั้น ตนมีข้อมูลรายละเอียดไว้อยู่แล้ว และตนก็ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนายสมชายแล้วด้วย

นายสัญญา กล่าวอีกว่า ส่วนที่ฝนตกหนัก ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา จนถึงช่วงเช้านั้น ส่งผลให้น้ำท่วมขังใน 38 จุดบนถนนสายหลัก อาทิ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนพัฒนาการ ถนนศรีนครินทร์ช่วงตัดมอเตอร์เวย์ ซึ่งมีปริมาณน้ำท่วมขังที่น่ากลัวมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั้ง 38 จุด ที่ท่วงขังสำนักการระบายน้ำสามารถระบายได้หมดแล้ว ส่วนในถนนสายรองเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานเขตพื้นที่
ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังหนักมาก เช่น ที่ถนนวิภาวดี เนื่องจากเป็นที่ราบต่ำ กทม.ได้แก้ปัญหาด้วยนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายลงคลองบางซื่อ

ด้านนายวสันต์ มีวงษ์ โฆษก กทม.เปิดเผยถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์พบถุงทรายในท่อระบายน้ำอุดอยู่กว่า 100 ลูก ที่เขตมีนบุรี ว่า ขอให้ประสานมายัง กทม.และระบุให้ทราบด้วยว่า พบถุงทรายตรงจุดใด จะได้แก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งตนเองก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจหาจุดที่เกิดเหตุ ทางสำนักงานเขตก็ยังไม่ทราบเรื่อง ไม่มีการแจ้งเข้ามา หากพบจริงก็ควรแจ้งมายังเขตท้องที่ให้รับทราบ อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ถนนในพื้นที่เขตมีนบุรีที่เกิดน้ำท่วมมี 2 สาย คือ ถนนสุวินทวงศ์ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานยกระดับ ของกรมทางหลวง และอีกสายคือถนนราษฎร์อุทิศ-ถนนเลียบวารี ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องเป็น 4 ช่อง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 โดย กทม.ได้ว่าจ้างบริษัท ประยูรชัย (1984) จำกัด ซึ่งถนนดังกล่าวมักมีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับท่อระบายน้ำ

“กทม.ไม่ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีถุงทรายอยู่ในท่อ เพียงแค่อยากให้ประสานมาว่าตรงจุดใด ซึ่งมันคือปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกัน ส่วนบริเวณหน้าหมอชิตเก่า ถนนพหลโยธิน ก็ไม่ใช่ถนนของ กทม.และจุดนั้นก็ไม่ได้เกิดน้ำท่วม ขอความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่ กทม.ที่ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หลับได้นอน แต่ต้องมาถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอีก อย่างเมื่อคืนเกิดน้ำท่วมขังสูงมากที่สามเหลี่ยมดินแดง ก็ต้องเร่งทำงานระบายน้ำให้แห้งก่อนเช้า หากมีอะไรก็ควรร่วมมือกันดีกว่าจะมาคอยนั่งจับผิดกัน” นายวสันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูลระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ว่า พบปริมาณฝนตกลงมาสูงสุด วัดได้ที่สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ เขตหนอกจอก ที่ปริมาณ 147.0 มม.ขณะเดียวกัน ความสูงของระดับน้ำในคลองต่างๆ หลายแห่งก็เริ่มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาทิ คลองสอง (สายไหม) วัดได้สูงสุดที่ 1.54 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก) (ระดับตลิ่ง 1.80 ม.รทก.) คลองแสนแสบ (มีนบุรี) สูงสุด 1.08 ม.รทก.(ระดับตลิ่ง 1.20 ม.รทก.) คลองประเวศน์ฯ (ลาดกระบัง) สูงสุด 0.55 ม.รทก.(ระดับตลิ่ง 0.65 ม.รทก.) คลองมหาสวัสดิ์ (ทวีวัฒนา) สูงสุด 1.16 ม.รทก. (ระดับตลิ่ง 1.30 ม.รทก.)

ขณะที่ข้อมูลจากระบบตรวจวัดระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำฯ (ภายนอก/ภายใน) อัตโนมัติรายงานว่า คลองสอง 1.75/0.93 ม.(ค่าวิกฤต 1.80/0.80 ม.), คลองสามวา 1.38/0.72 ม.(ค่าวิกฤต 1.20 ม.), คลองแสนแสบ ช่วงมีนบุรี 1.18/0.61 ม.(ค่าวิกฤต 1.20 ม.), คลองแสนแสบ ช่วงบางชัน 0.63/0.40 ม.(ค่าวิกฤต 0.80 ม.), คลองประเวศน์ฯ ช่วงลาดกระบัง 0.67/0.50 ม.(ค่าวิกฤต 0.65 ม.)

ด้านระดับน้ำคลองสายหลักฝั่งพระนคร ที่คลองลาดพร้าว วัดได้ 0.59/0.54 ม.(ค่าวิกฤต 0.40 ม.) ฝั่งธนบุรี คลองมหาสวัสดิ์ ศาลายา 1.21 ม.(ค่าวิกฤต 1.30 ม.), คลองทวีวัฒนา 0.91 ม.(ค่าวิกฤต 1.00 ม.), คลองพระยาราชมนตรี-ภาษีเจริญ 0.75 ม.(ค่าวิกฤต 0.60 ม.), คลองทวีวัฒนา-ภาษีฯ 0.83 ม.(เกินค่าวิกฤตที่ 0.60 ม.),คลองทวีวัฒนา-วัดศาลาแดง 0.96 ม.(เกินค่าวิกฤต 0.80 ม.)

ทั้งนี้ ค่าวิกฤตคือค่าระดับของตลิ่ง หากระดับน้ำสูงเกินค่าวิกฤต พื้นที่แถบนั้นอาจมีปัญหาน้ำท่วมได้ นอกจากนี้ ในส่วนของปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานพระราม 8 วัดได้สูงสุดที่ 2,650 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเริ่มเข้าใกล้ปริมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที ที่ กทม.ระบุว่า เป็นระดับอันตราย อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะตามชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
กำลังโหลดความคิดเห็น