xs
xsm
sm
md
lg

“ชินภัทร” ชี้ให้ ร.ร.เป็นนิติบุคคลต้องปลดล็อกกฎหมายก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชินภัทร” ชี้ดัน ร.ร.เป็นนิติบุคคลต้องปลดล็อกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แจงที่ผ่านมาได้กำหนดพื้นที่ทดลองดำเนินการ แต่ ร.ร.ยังต้องยึดระเบียบกลาง ย้ำ ทุก ร.ร.มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ 100% เหตุติดขัดเรื่องงบและคนที่ต้องให้ส่วนกลางจัดสรร
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (27 ก.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการพัฒนาสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเป็นอิสระคล่องตัว สามารถบริหารจัดการการศึกษาได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คงต้องพิจารณาในรายละเอียด ว่า สกศ.จะมีข้อเสนอในเชิงการบริหารอย่างไร เพราะในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการจัดสรรงบประมาณ ก็คงยังไม่สามารถที่จะกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)​ มีความพยายามที่จะกำหนดเป็นเขตพื้นที่ทดลอง เพื่อให้โรงเรียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ในการปฏิบัติยังต้องยึดกฎระเบียบกลางเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล โดยโรงเรียนยังไม่สามารถคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และครูได้เอง การดำเนินการจึงไม่เบ็ดเสร็จ ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่จะต้องปลดล็อกทั้งกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ

การจะปรับให้โรงเรียนมีความอิสระคล่องตัวมากขึ้น เป็นวิถีทางที่ สพฐ.ต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่การดำเนินการในทางปฏิบัติคงต้องมีขั้นตอน ซึ่งความจริงแล้วตามกฎหมายโรงเรียนทุกแห่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นแบบนิติบุคคลได้ 100% เพราะโรงเรียนมีข้อจำกัด ทั้งงบประมาณ และบุคลากรที่ยังต้องรอจัดสรรจากส่วนกลาง ดังนั้น วิธีการที่จะก้าวไปสู่การเป็นนิติบุคคลได้นั้น จะต้องค่อยๆ ปลดล็อกให้โรงเรียนมีอิสรภาพมากขึ้น” นายชินภัทร กล่าวและว่า เมื่อยังแก้ไขกฎหมายไม่ได้ สพฐ.จึงใช้วิธีการให้โรงเรียนสามารถเปิดโปรแกรมพิเศษขึ้นได้ เช่น อิงลิชโปรแกรม ห้องเรียนพิเศษวิทย์-คณิต ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะสามารถเพิ่มสัดส่วนจำนวนการรับนักเรียนได้เพิ่มขึ้นปีละ 10% เดิมรับ 20% ปีนี้ก็จะเพิ่มเป็น 30% และปีต่อไปก็จะเพิ่มอีก 10% แต่ต้องไม่เกิน 50% โดยจะต้องมีการประเมินผลทุกๆ สิ้นปี เพื่อคงสถานภาพของการจัดโปรแกรมพิเศษของโรงเรียนเหล่านี้ต่อไป ทั้งนี้การให้โรงเรียนเปิดโปรแกรมพิเศษได้ จะทำให้โรงเรียนมีศักยภาพในเชิงวิชาการ สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว และสามารถระดมทรัพยากรได้เพิ่มมากขึ้นตามความสมัครใจของผู้ปกครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น