xs
xsm
sm
md
lg

ศน.ชง ดีเอสไอ พิจารณารับปัญหาฮัจญ์เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศน.ชงสารพัดปัญหาฮัจญ์ให้ดีเอสไอสอบสวนเป็นคดีพิเศษ หลังพบผู้ประกอบการฉ้อฉล แถมมีเงินหมุนผ่านธุรกิจมหาศาล พร้อมร่อนหนังสือแจ้งกระทรวงฮัจญ์กันประเทศเสื่อมเสีย

สืบเนื่องจากกรณีผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ ยื่นวีซ่าชาวไทยมุสลิม ที่ต้องการไปแสวงบุญ ในเทศกาลฮัจญ์ ปี 2555 ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย นอกระบบจำนวน 807 ราย ส่งผลกระทบต่อโควตาผู้แสวงบุญรายอื่นๆ นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่า ผู้แสวงบุญที่ขอวีซ่านอกระบบจำนวนดังกล่าวได้เดินทางไปถึงประเทศซาอุดีอาระเบียเรียบร้อยแล้ว โดยไปหาที่พักกันตามสภาพ ซึ่งพักอาศัยกันอย่างแออัด ทั้ง ศน.จะไม่รับผิดชอบการดูแลผู้แสวงบุญกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก อาหาร การเดินทาง ขณะเดียวกัน ยังทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงฮัจญ์ ซาอุดีอาระเบีย ถึงการเดินทางของผู้แสวงบุญนอกระบบ ว่า ไม่อยู่ในการรับรองของทางราชการแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาทางการซาอุฯท้วงติง และส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศไทย แล้วจะนำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 8 ต.ค.นี้

นายปรีชา กล่าวต่อว่า ตนได้ประสานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาของผู้แสวงบุญฮัจญ์ในปี 2555 โดยเบื้องต้น ทางดีเอสไอจะได้รับปัญหาฮัจญ์ พิจารณาเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งยังเป็นการฉ้อฉลหลอกลวง ทำให้ประชาชนเสียทรัพย์จำนวนมาก และมีจำนวนเงินหมุนเวียนผ่านธุรกิจดังกล่าวมหาศาล โดย ศน.จะรวบรวมข้อมูลและเอกสาร เพื่อส่งไปให้ดีเอสไอโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ตนได้รับรายงานว่า ทางสถานทูตซาอุดีอาระเบียได้ปิดรับวีซ่าผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปในปีนี้แล้ว โดยอยู่ที่จำนวน 12,732 ราย จากโควตาที่ประเทศไทยได้รับ มีจำนวน 13,000 ราย และยังเหลืออีกจำนวน 268 ราย ซึ่งพบว่า เป็นโควตาที่กรมการศาสนา ได้จัดสรรให้กับผู้ประกอบการ แต่ทางผู้ประกอบการเกิดความบกพร่องไม่สามารถหาผู้แสวงบุญ ให้ครบจำนวนได้ ซึ่งทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม ต้องเสียสิทธิ์ ดังนั้น จะต้องมีการหารือถึงการลงโทษกับผู้ประกอบการรายต่างๆ โดยพิจารณาถึงเหตุผลแต่ละกรณีด้วย

ด้าน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับทราบเรื่องบริษัทที่ไปขอวีซ่านอกระบบ เป็นบริษัทที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ในเทศกาลฮัจญ์ประจำปี 2555 และไม่มีผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในสังกัดที่อยู่ในโควตาระบบการลงทะเบียนของทางราชการ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา จะต้องหามาตรการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปีถัดไป ส่วนผู้ประกอบกิจการฮัจญ์นั้น ส่วนใหญ่รู้ดีในข้อกฎหมายในการส่งผู้แสวงบุญดีอยู่แล้วว่า หากกระทำผิดกฎหมายจะได้รับผลอย่างไร สำหรับจะมีการแจ้งความต่อผู้ประกอบการนั้น ขอให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า สาเหตุเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้เสียหาย เพื่อที่จะดำเนินคดีได้อย่างถูกต้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับฮัจญ์เข้ามายังสำนักจุฬาราชมนตรีแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น