xs
xsm
sm
md
lg

คนไทย 12 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต กว่า 2,000 คน ถูกล่ามโซ่ที่บ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทย 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย ที่มีอาการทางจิต 2,000 คนถูกกักขังหรือโดนล่ามโซ่ไว้ที่บ้าน เร่งให้ความช่วยเหลือปลดโซ่ตรวนให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับคืนสู่สังคม พร้อมปรับงานบริการผู้ป่วยจิตเวช ขยายงานดูแลติดตามลงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (14 ก.ย.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม “โครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง : สู่ชีวิตใหม่ในชุมชน” ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่า จากการสำรวจปัญหาด้านสุขภาพจิตล่าสุดของกรมสุขภาพจิต พบประชากรไทยร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต และพบผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตหรือป่วยเป็นโรคทางจิตเวชประมาณร้อยละ 2 เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคจิตจากการใช้สารเสพติด โรคสมองเสื่อม โรคลมชักและโรคสมาธิสั้น เป็นต้น

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่ป่วยทางจิตจะขาดความสนใจในการดูแลตนเอง และเป็นภาระของญาติ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับตนเองและผู้อื่น ทำให้ญาติต้องใช้วิธีการล่ามขังผู้ป่วย ซึ่งจากการสำรวจทั่วประเทศพบผู้ป่วยจิตเวชทุกกลุ่มอายุที่ถูกล่ามหรือกักขังที่บ้าน ประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยและคนในสังคม เกิดความรู้สึกไม่ใช่คน ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเสื่อมถอย ขาดโอกาสต่างๆในสังคม ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการปลดโซ่ตรวนขึ้น เพื่อค้นหาผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังในชุมชน นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ฟื้นฟูตามมาตรฐาน รวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ ไม่ถูกล่ามขังและดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 7 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2555 ขณะเดียวกัน ในปี 2556 นี้ มีนโยบาย ให้ขยายบริการงานสุขภาพจิตลงสูชุมชน โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.มีการติดตาม ผลการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาการขาดยาและอาการกำเริบ ซึ่งขณะนี้ได้จัดอบรมความพร้อม เจ้าหน้าที่ไปแล้ว

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 ถึง 30 สิงหาคม 2555 พบผู้ป่วยที่ถูกล่ามขัง และนำเข้าโครงการ เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จำนวนทั้งสิ้น 415 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 83 คน ภาคตะวันออก 5 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 171 คน ภาคกลาง 47 คน และภาคใต้ 109 คน ทั้งหมดนี้ ได้รับการบำบัด มีสภาพจิตใจดีขึ้น สามารถปลดโซ่ตรวน และดำเนินชีวิตในชุมชน ไม่ถูกล่ามขังซ้ำจำนวน 127 คน ในส่วนของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล พัทลุง และตรัง มีผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังทั้งสิ้น 94 คน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพสำเร็จ ผู้ป่วยไม่ต้องถูกล่ามขังซ้ำจำนวน 31 คน

นพ.ณรงค์  กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจราว 12 ล้านคน อาทิ มีความเครียด อารมณ์ผันแปร เศร้าง่าย โกรธง่าย โดยไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้มากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีปัญหาโรคทางจิตเวช เนื่องจากในกลุ่มจิตเวชจะพบไม่มาก มีเป็นกลุ่มๆ หลายแต่กลุ่มอาการ อย่างไรก็ตาม หากควบคุมอารมณ์เครียดไม่ได้ โอกาสจะกลายเป็นโรคทางจิตเวชก็มี แต่อาจไม่มาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม และพื้นฐานทางอารมณ์ของแต่ละคน รวมทั้งพื้นฐานของครอบครัวด้วย เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนควบคุมอารมณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น และหากไม่รักษาก็อาจลุกลาม เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะสาเหตุใดคนถึงเครียดกันมาก นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า หากพูดในภาพรวมของปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นนั้น ทั้งความเครียด อารมณ์แปรปรวน ความรุนแรงต่างๆ ย่อมมาจากสภาพแวดล้อม ณ ปัจจุบัน เปลี่ยนไป การทำงานที่เร่งรีบ การแข่งขันสูง ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยบีบให้เกิดความเครียดทั้งสิ้น ยิ่งคนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมทางอารมณ์ หรืออีคิว ที่ไม่ดีมากนัก ยิ่งเป็นปัญหา ตรงนี้อยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง และครอบครัว ต้องดูแลเอาใจใส่ ควรปลูกฝังนิสัยที่ดี ความเป็นใจเย็น รู้จักรอคอย เข้าใจสภาพที่เป็นไปของคน โดยต้องสอนตั้งแต่เด็กๆ ก็จะช่วยป้องกันปัญหาเมื่อเติบใหญ่ได้ เพราะอย่างน้อย พวกเขาจะรู้จักควบคุมอารมณ์ และรู้วิธีคลายเครียดได้ไม่ยาก ซึ่งการคลายเครียด เช่น การหากิจกรรมที่สนใจ อาทิ ร้องเพลง เล่นกีฬา เล่นดนตรี เป็นต้น

 นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคทางจิตเวชในชุมชน จะเน้น 3 มิติ ประกอบกัน ได้แก่ 1.มิติด้านผู้ป่วย เน้น “ยาถึง พึ่งตนเอง” จะให้ความรู้ความเข้าใจต่อการเจ็บป่วย  การกินยาอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังป้องกันอาการกำเริบ  2.มิติด้านผู้ดูแล  คือการทำความเข้าใจกับผู้ดูแลให้เข้าใจการเจ็บป่วยทางจิตว่า จำเป็นต้องได้รับการรักษา เรียนรู้ทักษะในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งดูแลจิตใจตนเองไม่ให้เครียด การหาแหล่งช่วยเหลือทางสังคม และปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อหลีกเลี่ยงการล่ามขังผู้ป่วย และมิติที่ 3 คือ ด้านชุมชน ทำความเข้าใจกับชุมชนให้ยอมรับ เข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย ว่า ไม่ใช่คนบ้า แต่เป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิต  มองว่าการล่ามขังเป็นปัญหาของชุมชน  และจะเป็นปัญหากับผู้ป่วยทวีคูณ ต้องให้ความช่วยเหลือต่างๆในการดำเนินชีวิต  เพื่อแบ่งเบาภาระของญาติในการดูแลผู้ป่วย

อนึ่ง ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตสำรวจพบผู้ป่วยโรคจิตเวชในปี 2554 พบ 413,901 ราย เป็นโรควิตกกังวล 321,931 ราย และโรคซึมเศร้า 186,651 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น