xs
xsm
sm
md
lg

ชี้คนไทย 90% มีการศึกษาน้อย เสียเปรียบอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต รมช.ศึกษาธิการ ชี้ คนไทย 90% เสียเปรียบเมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพราะอยู่ในกลุ่มเกษตรกร และผู้มีการศึกษาน้อย แนะ กศน.เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต ให้แล้วเสร็จเพื่อช่วยเป็นทิศทางจัดการศึกษา ขณะที่ “สมพงษ์” แนะ กศน.ปรับทิศทางการจัดการศึกษาใหม่ เน้นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มเด็กออกกลางคัน

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “การรู้หนังสือเพื่อเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต เนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เนื่องจากโครงสร้างของประชากรในอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก ดังนั้น กศน.จะต้องตั้งโจทย์ใหม่ในการจัดการศึกษา ด้วยการนำเด็กและผู้สูงอายุมาเรียนรู้ไปด้วยกัน นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 กศน.จะต้องหันมาเน้นการศึกษาที่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มเด็กที่ออกจากระบบการศึกษากลางคัน ซึ่งมีประมาณปีละ 200,000 คน โดยอาจจะต้องมีโครงการเรียน กศน.จบ ม.6 ใน 8 เดือนทางอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการศึกษา พร้อมกันนี้ จะต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมสินค้าของชาวบ้านให้มีคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

“เวลานี้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนในสถานศึกษายังใช้เพียงการปักธง ของแต่ละประเทศซึ่งเป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น เพราะเรื่องอาเซียนมีอื่นๆ อีกมากมายให้ศึกษา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มทำหลักสูตรอาเซียนแล้ว แต่ประเทศไทยกำลังเพิ่งเริ่มทำ เพราะฉะนั้น กศน.เองก็ต้องเริ่มเข้ามามีบทบาทและเตรียมพร้อมด้วย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ยานยนต์ ยางพารา ฯลฯ ตรงนี้ผมว่า กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอาชีพให้กับคนในพื้นที่ โดยจะต้องลงไปศึกษาวิจัยเพื่อหาช่องทางเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาฝีมือเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดเสรีอาเซียน” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนคนที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นคนรวย และคนที่มีการศึกษาสูง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีการศึกษาน้อย เป็นเกษตรกรและคนจนเกือบ 90% จะเสียเปรียบ ดังนั้น กศน.ต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมศักยภาพของคนเหล่านี้ โดยจะต้องทบทวนเรื่องของการรู้หนังสือซึ่งต้องสร้างความเข้าใจใหม่ ว่า การรู้หนังสือไม่ใช่แค่อ่านออก เขียนได้อีกต่อไป แต่จะต้องรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นจุดปรับตัวที่สำคัญที่สุดของ กศน.นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องของภาษา อาชีพ และต้องสอนให้คนรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็น ทั้งนี้ สิ่งที่ กศน.ต้องทำ คือ การเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนกว่า 50 ล้านคน ที่อาจจะเสียเปรียบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า และต้องเร่งสร้างระบบเครือข่ายในการจัดการศึกษา ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า กศน.จะช่วยแก้วิกฤตของชาติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น