xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เสนอเปลี่ยน Thai massage เป็น “นวดไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“รสนา” เสนอเปลี่ยนชื่อ Thai massage เป็น “นวดไทย” สร้างเอกลักษณ์ชาติ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เตรียมยุทธศาสตร์ 6 ด้าน เสนอสมัชชาสุขภาพเห็นชอบ ก่อนส่งเข้า ครม.พิจารณา ดันนวดไทยสู่มรดกโลก

ภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสวนา เรื่อง “นวดไทย มรดกไทยสู่มรดกโลก” โดยน.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และกรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า การจะรักษานวดไทยให้คงอยู่สืบไปจะต้องมีการส่งเสริมและรักษานวดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้เป็นที่ยอมรับ ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่จะต้องให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกด้วย ดังนั้น ศัพท์ภาษาอังกฤษของนวดไทย ไม่ควรใช้ว่า Thai massage แต่ควรใช้ว่า “นวดไทย” เพื่อแสดงถึงว่าการนวดไทยเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของประเทศไทย เหมือนเช่น มวยไทย

น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำชุดความรู้เรื่องนวดไทย โดยเป็นการแสดงถึงท่าทางการนวดไทยที่ถูกต้องที่แท้จริงว่ามีท่าทางรูปแบบเช่นไร จากนั้นใครจะนำไปนวดเสริมในรูปแบบต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่จะต้องมีเป็นพื้นฐานท่าทางที่ถูกต้องตามหลักของการนวดไทย รวมถึงต้องพัฒนาบุคลากรด้านการนวดและแพทย์แผนไทยด้วย โดยการเชิญหมอนวดไทยที่มีความรู้จริงและลึกซึ้ง ที่มีฝีมือการนวดระดับล้ำลึกมารวบรวมเป็นองค์ความรู้แล้วเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน

“ในประเทศจีนเรียกการนวดแบบจีน ว่า ทุยหนา ส่วนประเทศญี่ปุ่น ก็เรียกว่า ชิอ๊ะจึ ซึ่งเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ไม่ได้มีใครเรียกว่า ไชนิส มาสสาจ (Chinese massage) หรือ เจแปนนิส มาสสาจ (Japanese massage) ทั้งนี้ ก็เพื่อคงเอกลักษณ์ให้คนทั่วโลกรับรู้ว่าการนวดแบบนี้เป็นของประเทศเขาและมีชื่อเรียกเฉพาะในภาษาของเขา นวดไทยก็ควรสร้างการรับรู้แบบนั้นเช่นเดียวกัน นวดไทยจะได้เป็นเอกลักษณ์ของไทยในสายตาคนทั่วโลก” น.ส.รสนา กล่าว

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการจัดทำร่างยุทธศาสตร์นวดไทยสู่มรดกโลก ระหว่างปี 2556-2559 โดยจะนำเข้าสู่สมัชชาสุขภาพให้ความเห็นชอบก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมี 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า 2.กลไกขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงต่างๆ หากมีการขยายตลาดในต่างประเทศ 3.การวิจัยและพัฒนา 4.สร้างเครือข่ายระหว่างชมรมและสมาคมต่างๆ เพื่อหารือเรื่องมาตรฐาน 5.ยกระดับการนวดไทยให้ได้มาตรฐานที่ชัดเจน โดยจะต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่รับรองมาตรฐานเหมือนกับการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล และ 6.การพัฒนาตลาดเชิงรุกเพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากเว็บไซต์ของวัดโพธิ์ จะเห็นว่า มีการประกาศรับสมัครหมอนวดไทยจำนวนมาก สะท้อนถึงสถานการณ์ของหมดนวดไทยปัจจุบันขาดตลาด ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างเช่น ที่วัดโพธิ์ มีคนมารอคิวเพื่อรอรับการนวดจำนวนมากทุกวัน บางครั้งต้องจองคิวล่วงหน้า ตลาดหมอนวดไทยจึงยังเติบโตได้อีกมาก แต่คนไทยจะต้องรู้และเก่งจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น