xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกรุ “ปั๊บสา” ตำราหมอเมือง-คลังปัญญาท้องถิ่น/พบ ตปท.ทุ่มซื้อเล่มละกว่าหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - หมอเมืองลุ่มกว๊านฯ ปลุกจิตรักษ์ “ปั๊บสาโบราณ” สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หมอเมืองเผยมีปั๊บสากว่า 500 เล่มยังทรงคุณค่า ล่าสุด มีคนติดต่อขอซื้อเพื่อต่างชาติ ตั้งราคาให้เล่มละ 12,000 ไม่ขาย NGO กระตุ้นเก็บรักษาและสืบทอด “สมุนไพร-หมอเมือง-แผนไทย” กันถูกโจรกรรมทางปัญญา

นายแต่ง กุสาวดี อายุ 67 ปี ปราชญ์ท้องถิ่นด้านหมอเมืองบ้านเลี้ยว หมู่ 10 ต.งิม อ.ปง จ.พะเยา กล่าวว่า ตนอยู่และคลุกคลีกับ “ปั๊บสา” ตำรายาสมุนไพรโบราณมาตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยขณะนี้ ตนมีปั๊บสาอยู่ประมาณ 30-40 เล่ม ที่ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งมีบางส่วน คาดว่าประมาณ 50 เล่ม ที่ตนไม่รู้ถึงความสำคัญได้เก็บใส่ลังแล้วนำไปฝังใต้สถูปที่ฝังกระดูกของพ่อที่ล่วงลับจนพัง และเสียหายไป มาถึงตอนนี้รู้สึกเสียดายมาก ปั๊บสามีเนื้อหาหลักคือ การใช้พืชสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วย นอกจากนั้น จะเป็นคาถาซึ่งก็เกี่ยวพันกับการรักษาอาการเจ็บป่วยของหมอเมืองทั้งนั้น

“ย้อนหลังประมาณกว่า 50 ปีที่ผ่านมา คนที่ไม่รู้คุณค่าของปั๊บสาเหล่านี้พากันนำไปขายเป็นของเก่า เล่มละ 50 สตางค์ กว่าจะรู้ค่าก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหนกันหมดแล้ว”

ปราชญ์ท้องถิ่นฯ บ้านเลี้ยว กล่าวต่อว่า ส่วนปั๊บสาที่เหลืออยู่กับตัว และเก็บรักษาไว้ในตู้อย่างดี ขณะนี้มีคนมาขอซื้อเล่มละ 10,000-12,000 บาท โดยคนที่มาติดต่อขอซื้อเป็นเจ้าหน้าที่ของ ปตท. จะมาซื้อปั๊บสาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วย เพื่อขายต่อให้แก่ชาวญี่ปุ่น ซึ่งตนไม่ยอมขายเด็ดขาด เพราะเป็นสมบัติภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ และปั๊บสาส่วนใหญ่อยู่กับหมอเมือง หรือหมอพื้นบ้านทั่วไป ผู้ที่มีความรู้เรื่องการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และสมุนไพรพื้นเมือง ต้องมีความละเอียด ศรัทธา เชื่อมั่นจึงจะทำได้

“ในส่วนของกลุ่ม หรือเครือข่ายหมอเมืองในพะเยา คาดว่าจะมีปั๊บสาที่ได้รับการรักษาอยู่ไม่น้อยกว่า 500 เล่ม บ้างก็มีการสืบทอดด้วยการแปล สืบทอดด้วยการเรียนรู้การใช้ภูมิปัญญารักษา ฯลฯ ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้คนทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีใจศรัทธา และเชื่อในศาสตร์การรักษาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านหมอเมือง ซึ่งขณะนี้ ก็มีคนสนใจสืบทอดกันมากขึ้นแล้ว” นายแต่ง กล่าว

ด้านนายสิทธิพงษ์ อาณาตระกูล ผู้ประสานงานเครือข่ายหมอเมืองลุ่มกว๊าน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ตำรายา หรือปั๊บสาเหล่านี้กำลังกลายเป็นของมีค่าด้านโบราณวัตถุ โดยเฉพาะถูกใช้เป็นข้อมูลต้นแบบเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือก สำหรับหมอเมืองลุ่มกว๊านฯ มีข้อมูลเกี่ยวกับปั๊บสา ก็เนื่องมาจากผู้ทรงภูมิที่เป็นปราชญ์ด้านหมอเมืองคือ ผู้ที่เก็บรักษาปั๊บสาเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้ปั๊บสาอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว จะต้องมีการรักษาป่าเพื่อให้มีพืชสมุนไพรอย่างหลากหลาย การใช้พิธีกรรมเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงในการใช้สมุนไพรในการรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกาย และจิตใจแบบองค์รวมทั้งหมด

“ตรงนี้ยังน่าเสียดายว่าภาครัฐยังไม่ค่อยเข้าถึงอุดมคติของแพทย์ทางเลือกมากนัก จะสังเกตได้ว่า ภาครัฐเฉพาะหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญการแพทย์ทางเลือกที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้สมุนไพรรักษาโรคจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่ขณะเดียวกัน ต่างประเทศกำลังค้นหา จึงเกรงว่าในอนาคต ภูมิปัญญาเหล่านี้หากภาครัฐไม่ลงมาช่วยดูแลรักษา ภูมิปัญญาอาจจะถูกโจรกรรมได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวที่จังหวัดพะเยาว่า ตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายหมอเมือง หรือแพทย์พื้นบ้านในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันจัดกิจกรรมการประชุมวิชาการของเครือข่ายหมอเมืองฯ ขึ้นทั้งสองพื้นที่ เพื่อเน้นส่งเสริมการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์แผนโบราณ หรือหมอเมือง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาด้านการรักษาสุขภาพของคนไทยมาช้านานแล้ว ได้รับการสืบสานไม่ให้เลือนหายไป ดังนั้น จึงต้องจัดการประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่ และขยายองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาหมอเมืองมิให้สูญหาย ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

“ขณะเดียวกัน ในปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตรงนี้โดยส่วนตัวผมคิดว่าควรต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง และรักษาภูมิปัญญาดังกล่าวไว้ไม่ให้ถูกผู้ที่ไม่ประสงค์ดี นำไปเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ และกลับมาทำลายภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่า ดังนั้น ต้องช่วยกันเร่งหามาตรการป้องกันตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับชาติ” นายวีระพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น