xs
xsm
sm
md
lg

พม.ร่วมภาคีระดม “พลังอาสาสมัคร สร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผย เด็กกำพร้าไทยสูงถึง 800,000 คน พม.-สสส.ระดม “อาสาสร้างสุข” ใช้เทศกาลวาเลนไทน์ส่งมอบความรัก ขับเคลื่อนงานจิตอาสาพร้อมผลักดันสร้างคู่มือการจัดการช่วยบุคลากรและอาสาสมัครทำงานจิตอาสาสร้างสุขแก่เด็ก

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสุขภาพไทย สหทัยมูลนิธิ และเครือข่ายพุทธิกา เปิดตัวโครงการ “พลังอาสาสมัคร สร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์” พร้อมจัดกิจกรรมนวดสัมผัสมอบความรักแก่ทารก จัดทำของขวัญมอบแก่เด็กในสถานสงเคราะห์ เนื่องในโอกาสวาเลนไทน์ และร่วมเชิญชวนเป็นอาสาสมัครสร้างสุข

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทยและสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เด็กด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์หากไม่ได้รับความรักในวัยแรกเริ่มของชีวิตก็มีโอกาสเติบโตเป็นโรคขาดรัก และพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคขาดรักจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมต่อต้านสังคมและการใช้ความรุนแรงดังที่เราได้เห็นว่าในปัจจุบันอาชญากรรมในเด็กที่อายุน้อยมีมากขึ้นเรื่อยๆ มูลนิธิสุขภาพไทยมีบทบาทในการจัดทำโครงการสัมผัสกาย สัมผัสรัก (อาสานวดเด็ก) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 นับเป็นปีที่ 11 พบว่า การนวดสัมผัสเด็ก จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดี มีสุขภาพทางกายและจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะการสัมผัสจะเป็นการสื่อสารทางกายที่แสดงออกได้ถึงความรัก เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ และมีภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นโรคขาดรัก

“สำหรับการเปิดรับอาสาสมัครเพิ่มเติมนั้น จะเป็นการสร้างพื้นที่เพิ่มช่องทาง โอกาสให้ผู้มีจิตอาสาเสียสละเวลามาทำประโยชน์ให้กับสังคมต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาชนเชื่อว่าในสังคมมีอาสาสมัครจำนวนมากที่ต้องการเข้ามามีส่วนในการทำความดีให้สังคมซึ่งจะช่วยให้เกิดสุขภาวะทางสังคมการมีสุขภาวะทางสังคมที่ดีจะส่งผลให้สุขภาวะของปัจเจกดีขึ้นด้วย” นางสาวรสนา กล่าว
สาธิตการนวดสัมผัส
นางรชธร พูลสิทธิ์ ผอ.สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็กกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม.กล่าวระหว่างการเสวนา “อาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์” ว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน จำนวนประมาณ 29 แห่ง แต่มีเจ้าหน้าที่รวมถึงอาสาสมัคร ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเด็กอ่อนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเป็นกลุ่มอายุใกล้วัยเกษียณ ฉะนั้น การจัดการความรู้และการวิจัยจะเป็นกระบวนการสำคัญ ให้เกิดงานที่มีคุณภาพและความสุข ช่วยทำให้ผลการทำงานเกิดความสมบูรณ์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ จะนำกระบวนการวิจัยในงานประจำ ( Routine to Research (R2R)) เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ควบคู่กันด้วย เพราะการเลี้ยงดูเด็กสามารถทำเป็นองค์ความรู้ และสามารถพัฒนาต่อยอดได้

“ตามหลักสากล เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลเด็ก 4-5 คน แต่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์ 1 คน ต้องดูแลเด็ก 20 คน ดังนั้น การเชิญชวนให้เกิดอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น จะสามารถช่วยดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่ได้ดีขึ้นเกิดพัฒนาการ สุขภาพกาย-ใจ ที่ดี ตามช่วงวัยและเกิดเป็นคนดีในสังคมต่อไป”นางรชธร กล่าว

ด้าน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.กล่าวว่า จากฐานข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ. 2551 ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยมีสมาชิกรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในสถานะของ “เด็กกำพร้า” ประมาณ 800,000 คน โดยถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะเหตุจากแม่ในวัยเรียน และแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทางด้านการศึกษาและความรัก สสส.จึงได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว เกิดความอบอุ่น มีสุขภาวะที่ดี เพื่อช่วยป้องกันและลดปัญหาความไม่พร้อมที่จะนำมาสู่ปัญหาอื่น ฉะนั้น การสร้างระบบอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์เด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบจะช่วยให้สามารถเกิดการทำงานอย่างยั่งยืน พร้อมเป็นการสร้างต้นแบบรูปแบบการทำงาน ด้วยการวิจัยจนได้เป็นคู่มือและเครื่องมือระบบอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น