“วิวาห์บาบ๋า” ภูเก็ต เหงา ชาวต่างชาติร่วมงานน้อยเหตุหวั่นแผ่นดินไหว ขณะที่ท้องถิ่นเร่งประชาสัมพันธ์เชื่อมั่นแผนความปลอดภัยพื้นที่ หวังชาวต่างชาติมาร่วมฟื้นประเพณีแต่งงานโบราณ หลังหายไป 50 ปี ทั้งยังช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวเชื่อมคนรุ่นใหม่สืบทอดวัฒนธรรม
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่บ้านหงษ์หยก อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีพิธีจัดงานวิวาห์บาบ๋า ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นเทศกาลการแต่งงานโบราณที่สำคัญของเมืองภูเก็ต ที่ได้รับความสนใจของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากงานดังกล่าวมีการแต่งกายย้อนยุคแบบบาบ๋าที่มีสีสันสวยงาม โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือของทางจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต สมาคมเพอรานากัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม รวมทั้งกระตุ้นความสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม เคยรื้อฟื้นวิวาห์บาบ๋าขึ้นมาอีกครั้งเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยมีการจัดวิวาห์กันหลายร้อยคู่ ซึ่งในปัจจุบันทางเทศบาลนครภูเก็ต สมาคมเพอรานากัน ได้สานต่อจัดเทศกาลวิวาห์บาบ๋าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่จำนวนคู่ของคนแต่งงานจะไม่มากเหมือนครั้งแรก เนื่องจากทางจังหวัดต้องการที่จะให้ประชาชน และคนรุ่นหลังได้เห็นขั้นตอนของพิธีวิวาห์บาบ๋าอย่างชัดเจน หากทำเป็นจำนวนมากคู่ขั้นตอนต่างๆอาจจะเห็นไม่ชัดได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้มาร่วมงานครั้งนี้ ก็รู้สึกยินดีที่ทางจังหวัดได้มีการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม อันงดงามของท้องถิ่น ก่อนที่จะสูญหาย หรือคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก
ด้าน นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน กล่าว่า พิธีวิวาห์บาบ๋านั้นได้สูญหายไปกว่า 50 ปีแล้ว แต่ที่หลังจาก วธ.ได้รื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ทางสมาคมก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะต้องทำให้คนท้องถิ่นและเด็กรุ่นใหม่ได้เห็น ถึงขั้นตอนอันงดงามของการแต่งงาน ที่คนภูเก็ตจะให้ความสำคัญมากๆในสมัยก่อนที่มีการจัดสืบทอดกันมาเป็นร้อยปี โดยได้นำวัฒนธรรมจากปีนัง มาเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการผสมผสานวัฒนธรรมจีน ชาวไทยถลาง มาลายู ซึ่งจะมีพิธีสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการยกขั้นหมากด้วยปิ่นโตขนาดใหญ่ หรือเรียกว่า เสี่ยหนา จะมีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ มีรถยนต์หรูราคาแพง เพื่อบ่งบอกถึงความร่ำรวย ระหว่างขบวนจะมีวงดนตรีโบราณที่สูญหายไปแล้ว ที่เรียกว่า ตีต่อตีแช้ กลับมาบรรเลงตลอดทาง ทั้งนี้ ในระหว่างทางชาวภูเก็ตที่จะมีการประดับด้วยโบสีชมพู ห้อยโคมแดง และช่อดอกไม้ประดับประดาอย่างสวยงาม ไปจนถึงสถานที่แต่งงานพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
“ชาวภูเก็ต และชาวต่างชาติจะให้ความสนใจออกมาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของการแต่งงานบาบ๋า ที่หนึ่งปีจะมีให้เห็นเพียงครั้งเดียว เนื่องจากเป็นประเพณีโบราณที่มีการแต่งกายงดงาม ขั้นตอนที่เป็นแบบแผน ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะมองว่า ยุ่งยาก แต่ประเพณีนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันของคนสมัยก่อนที่แม้แต่พิธีแต่งงานยังต้องมีขั้นตอน โดยเฉพาะการไหว้ฟ้าดิน และการผ่างเต๋ หรือการมอบน้ำชาให้แก่ผู้อาวุโส ซึ่งแสดงถึงความกัญญูกตเวที ที่สำคัญทุกคนจะได้เห็นการแต่งกายท้องถิ่นแบบบาบ๋าที่มีความงดงามอีกด้วย” นายกสมาคมเพอรานากัน กล่าว
ผศ.ปราณี สกุลพิพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนภูเก็ต กล่าวว่า ปกติเราจะจัดพิธีวิวาห์บาบ๋าในช่วงเดือน มิ.ย. มีคนเข้ามาจองแล้ว 12 คู่หลายชาติ ปรากฏว่า มีแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต และเกิดอีกหลายแห่งในหลายภูมิภาค ทำให้ชาวต่างชาติกลัวที่จะเดินทางมาแต่งงาน จนให้ปีนี้เหลือชาวต่างชาติเพียงคู่เดียว สำหรับการวิวาห์ที่ผ่านมา ชาวต่างประเทศเข้ามาวิวาห์บาบ๋าเป็นจำนวนมาก อาทิ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคบ่อยครั้ง ก็อาจจะทำให้ชาวต่างชาติมาวิวาห์บาบ๋าน้อยลง ซึ่งทางชุมชนภูเก็ต สมาคมเพอรานากัน และเทศบาลนครภูเก็ต มีแผนกระตุ้นให้ชาวต่างชาติมั่นใจความปลอดภัยและระบบเตือนภัยในประเทศไทยที่อยากจะเข้ามาร่วมวิวาห์บาบ๋าที่ภูเก็ตให้มากขึ้น