xs
xsm
sm
md
lg

84 นักวิชาการยื่น “ยิ่งลักษณ์” ค้านรับทริปส์พลัสจากสหภาพยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

84 นักวิชาการยื่นจดหมายถึง “ยิ่งลักษณ์” คัดค้านข้อสรุปของกรมเจรจาการค้าฯ ที่ให้ยอมรับทริปส์พลัส หากทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

จากกรณีที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พยายามเร่งให้เกิดการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และได้ทำข้อสรุปเสนอต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ว่า ควรให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น และยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus โดยให้เหตุผลว่า การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัดนั้น

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งสิ้น 84 คน ได้ทำจดหมายถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คัดค้านข้อสรุปของกรมเจรจาการค้าฯ ที่ให้ยอมรับทริปส์พลัส หากทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป เนื่องจากข้อสรุปของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูง เพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นการสรุปที่บิดเบือนจากความเป็นจริง และไม่ได้มีการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนโยบายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ เพราะการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรอำพราง” เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี และจากประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น โคลัมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,200 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยในไทย ที่พบว่า ถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปีข้างหน้า (พ.ศ.2556) จะสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี

ผศ.ดร.นิยดา กล่าวอีกว่า พวกตนในฐานะนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้ง 84 คน จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยืนยันที่จะกำหนดไว้ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ที่จะไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ความตกลงทริปส์ ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 และขอให้การเจรจาเอฟทีเอ กับสหภาพยุโรป ที่จะมีขึ้นรอผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่ โดยที่พวกเราพร้อมให้ความสนับสนุนด้านวิชาการแก่รัฐบาล เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ผลประโยชน์กับประเทศชาติอย่างสูงสุดและสร้างความยั่งยืนของระบบงบประมาณเพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน”

ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวได้สำเนาถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี, นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น