xs
xsm
sm
md
lg

จวกกรมเจรจาการค้าฯ ยัดไส้มั่วข้อมูลชงรัฐบาลทำเอฟทีเอผูกขาดยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รุมประณามกรมเจรจาการค้าฯ ยัดไส้มั่วข้อมูลชงรัฐบาลทำเอฟทีเอผูกขาดยาตามอียู อ้างไม่มีผลกระทบ ด้านนักวิชาการเตรียมล่ารายชื่อร้องนายกฯ


จากการที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่เสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด’ และจะเร่งนำร่างกรอบดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อทันการพิจารณาของรัฐสภาใน ส.ค.

นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการรักษาแสดงความเคลือบแคลงความเห็นของกรมเจรจาฯ ว่า มีความผิดปกติอย่างยิ่งเพราะขัดกับหลักฐานทางวิชาการและความเป็นจริง


ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาหลายสมัยได้เคยส่งความเห็นถึงรัฐบาลมาโดยตลอด ว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่ควรรับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลกเพราะเรื่องนี้มีผลกระทบรุนแรงมาก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านยาที่เพิ่งประกาศใช้ก็ได้กำหนดไว้เช่นกัน

“ไม่เข้าใจว่า เหตุใดกรมเจรจาฯจึงมีความเห็นเช่นนั้น เพราะแม้แต่งานศึกษาที่กรมเจรจาฯจัดจ้างสถาบันทีดีอาร์ไอศึกษายังให้ข้อสรุปว่า ‘หากไทยยอมรับข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป ปัญหาการเข้าถึงยาสำคัญภายใต้สิทธิบัตรจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และโอกาสที่บริษัทยาไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญจากการยกระดับการคุ้มครองยาต้นแบบให้สูงขึ้นมีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ผลประโยชน์เกือบทั้งหมดน่าจะตกกับบริษัทยาข้ามชาติ’ ที่สำคัญ การยอมตามสหภาพยุโรปจะไม่ใช่แค่เรื่องทวิภาคี เพราะในมาตรา 4 ของความตกลงทริปส์เมื่อให้ประเทศใดก็ต้องให้กับประเทศอื่นๆด้วย หวั่นเกรงว่า เมื่อกรมเจรจาฯไม่มีความรู้ หรือไม่ใช้ความรู้ อาจส่งผลร้ายแรงทำให้รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดได้”

ทั้งนี้ รศ.ดร.จิราพร ชี้ว่า การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) หรือที่กรมเจรจาฯเลี่ยงไปใช้คำว่า การคุ้มครองข้อมูลทางยา เพื่อลดโทนของภาษาลงอย่างผิดทิศผิดทางนั้น เป็นการผูกขาดตลาดที่ไม่มีเหตุผลและมีความเสียหายร้ายแรงที่สุดในบรรดาข้อเรียกร้องทริปส์พลัสทั้งหมด จากการศึกษาค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีที่ 5 จะมีผลกระทบมากกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปเรื่องการจัดการ ณ จุดผ่านแดนที่ต้องการให้มีการยึดยาที่ต้องสงสัยซึ่งจะยิ่งถูกใช้เป็นการกลั่นแกล้งอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญอย่างไม่เป็นธรรมดังที่เกิดขึ้นหลายกรณีพิพาทระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรปตามเมืองท่าต่างๆ

ดังนั้น วันที่ 23 ส.ค.นี้ ทางคณะทำงานด้านสาธารณสุข สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเชิญกรมเจรจาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อทำความเห็นเสนอต่อรัฐบาลอย่างเร่งด่วนที่สุด

ทางด้าน ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ชี้ว่า ความเห็นของกรมเจรจาฯเป็นความเห็นที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และไร้มนุษยธรรม ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่ผู้กำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ

“ขณะนี้นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะกำหนดไว้ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ที่จะไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ และขอให้การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้นรอผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่”

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กำลังพยายามติดต่อคนในรัฐบาลให้รับรู้ถึงความผิดปกตินี้ หากปล่อยให้กรมเจรจาฯสอดไส้ร่างกรอบเจรจาฯที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเข้า ครม.ในเร็วๆ นี้ นี่จะคือหายนะของประเทศ และอาจเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะติดกับดักที่คนในกรมเจรจาฯวางดักให้รัฐบาลเสี่ยงกับการผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยไม่นำร่างกรอบเจรจาฯรับฟังความคิดเห็นก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น