xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 7 ปี สทศ.“สุชาติ” ฝากออกข้อสอบที่เฉลี่ยความยากง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ครบรอบ 7 ปี สทศ.“สุชาติ” ขอให้เป็นสถาบันทดสอบกลางที่สังคมเชื่อถือ ระบุ อยากเห็นการออกข้อสอบที่เฉลี่ยความยากง่าย เด็กไม่ต้องคาดเดาเป็นข้อสอบที่อยู่ในการเรียน และขอให้ดึงครูผู้สอนมาร่วมออกข้อสอบด้วย พร้อมมอบให้ไปศึกษาวิจัยข้อสอบทั่วโลก เพื่อดูว่าข้อสอบรูปแบบใดจะเหมาะสม

วันนี้ (3 ก.ย.) ที่โรงแรมพลูแมน คิงเพาเวอร์ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2555 “7 ปี สทศ.พัฒนาการศึกษาสู่สากล” โดยได้กล่าวระหว่างเปิดงานในหัวข้อ “นโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย” โดยมี ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.พร้อมด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมกว่า 100 คน ใจความตอนหนึ่ง ว่า ก้าวสู่ปีที่ 8 ของ สทศ.ได้ขอให้ สทศ.เป็นสถาบันจัดสอบที่เป็นกลางที่สังคมเชื่อถือ โดยที่ผ่านมา สทศ.ได้จัดวัดผลประเมินผลการศึกษาในหลายรูปแบบ เช่น การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) การทดสอบมาตรฐานอิสลามศึกษา (I-Net) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-Net)

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มักปรากฏข่าวว่า คะแนน O-Net ของนักเรียนต่ำลงเรื่อยๆ เพราะมองไม่เห็นความสำคัญ และพบว่า สิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ในแผนการศึกษาชาติ คือ การเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคะแนน O-Net เลย เพราะที่ผ่านมา ครูจะได้เลื่อนขั้นเลื่อนวิทยฐานะโดยการทำงานวิจัย ซึ่งทำให้ครูทิ้งห้องเรียน ไม่สนใจเด็ก ดังนั้น จึงขอให้มีการนำ O-Net ไปใช้มากขึ้นโดยใช้ในการจบการศึกษาช่วงชั้นระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ม.6 เพื่อให้คะแนน O-Net เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ขอให้โรงเรียนทุกโรงเรียนนำไปใช้ในการเข้าศึกษาต่อระดับ ม.1 และ ม.4 ในจำนวน 20% ขึ้นไป ส่วนการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาก็ขอให้พยายามให้คะแนน O-Net เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าเรียนต่อให้มากพอสมควร

“ต่อไปอยากให้การออกข้อสอบเฉลี่ยความยากง่ายเท่าๆ กัน อย่าออกข้อสอบที่เด็กคาดไม่ถึงมาถาม โดยผมเสนอให้ สทศ.เปิดโอกาสให้ครูทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกข้อสอบ เพราะเด็กคงอยากสอบในสิ่งที่ได้เรียนในห้องเรียนกับครูมากกว่า ที่ต้องนั่งทำข้อสอบแบบต้องตีลังกาทำ ควรออกข้อสอบตรงๆ ตามที่เด็กเรียนมา ขณะเดียวกัน อยากให้ สทศ.ทำวิจัยข้อสอบทั่วโลกว่าข้อสอบที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นข้อรูปแบบใด หวังว่า การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้การวัดผลประเมินผล เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับการศึกษาของไทยให้เทียบเท่าสากล”ศ.ดร.สุชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการมอบรางวัลให้แก่โรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ย O-Net ป.6 ม.3 และ ม.6 รวมคิดต่อกัน 3 ปีสูงสุด โดยแบ่งตามขนาดโรงเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2552-2555 จำนวน 12 โรงเรียน ประกอบด้วย ระดับ ป.6 ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลแพทยกิจพิทยา เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คะแนนเฉลี่ย 60.19 โรงเรียนหลวงครูวิทยา เป็นโรงเรียนขนาดกลาง คะแนนเฉลี่ย 64.12 โรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ คะแนนเฉลี่ย 64.05 และโรงเรียนอนุบาลสุธีธร เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ คะแนนเฉลี่ย 67.16 ระดับ ม.3 ได้แก่ โรงเรียนบ้านผือฮี เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คะแนนเฉลี่ย 49.50 โรงเรียสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เป็นโรงเรียนขนาดกลาง คะแนนเฉลี่ย 59.77 โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ปทุมวัน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ คะแนนเฉลี่ย 60.13 และโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ คะแนนเฉลี่ย 56.33 ระดับ ม.6 ได้แก่ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คะแนนเฉลี่ย 42.96 โรงเรียนมหิดลวิยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง คะแนนเฉลี่ย 65.11 โรงเรียนจุฬาภรราชวิทยาลัย จ.ตรัง เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ คะแนนเฉลี่ย 53.71 และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ คะแนนเฉลี่ย 61.00
กำลังโหลดความคิดเห็น