xs
xsm
sm
md
lg

เล็งชง ครม.แก้กฎหมาย หนุนชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการขยะพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอสุรวิทย์” ตรวจบ่อขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา พบสารก่อมะเร็ง “ฟีนอล” ในบ่อน้ำ ทำชาวบ้านป่วยแล้วกว่า 800 ราย ส่วนใหญ่ปวดหัว มึนงง ผื่นคันผิวหนัง หายใจติดขัด สั่งจัดหน่วยแพทย์ตรวจสุขภาพชาวบ้านรอบบ่อขยะ เตรียมเสนอ ครม.แก้กฎหมาย ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมแก้ปัญหาขยะพิษในพื้นที่ พร้อมเสนอทุกจังหวัดเอ็กซเรย์แหล่งขยะอันตรายในพื้นที่ ป้องกันสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (2 ก.ย.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะเดินทางไปติดตามปัญหาการนำกากขยะอุตสาหกรรม ไปทิ้งในพื้นที่ อ.พนมสารคาม และ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่โรงพยาบาลพนมสารคาม เพื่อรับฟังปัญหาและมาตรการแก้ไขของจังหวัด จากนั้นคณะได้เดินทางไปดูพื้นที่แหล่งขยะพิษที่หมู่ 7 ตำบลหนองแหน ซึ่งเป็นบ่อดินลึก 3-10 เมตร ในพื้นที่ 15 ไร่ น้ำมีสีดำ มีกลิ่นฉุน โดยชาวบ้านระบุว่า กลิ่นจะเหม็นมากภายหลังฝนตก และฟุ้งกระจายไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางไปตรวจบ่อทิ้งขยะที่หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม ซึ่งมีกลิ่นเหม็นแต่ไม่รุนแรงเท่ากับจุดแรก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน จากปัญหาการลักลอบนำขยะพิษอันตรายไปทิ้งในพื้นที่ ได้มอบหมายให้ติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน จากการรับฟังรายงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของ ผวจ.ฉะเชิงเทรา พบว่า เป็นการนำกากขยะจากอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ไปทิ้ง รวมทั้งหมด 11 จุด โดยอยู่ที่ อ.พนมสารคาม 6 จุด และที่อ.แปลงยาว 5 จุด พื้นที่ปัญหามีขนาดตั้งแต่ 1-200 ไร่ ประเภทขยะ ประกอบด้วย น้ำเสีย 7 แหล่ง ที่เหลือเป็นขยะประเภทพลาสติก มีประชาชนอาศัยบริเวณรอบๆ 3,000 คน ขณะนี้จังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ 1 ชุด มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานชุดทำงาน ประชุมติดตามความก้าวหน้าทุกสัปดาห์ ทั้งด้านกฎหมายและการดูแลสุขภาพประชาชน

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สธ.ได้มอบหมายให้ สสจ.ฉะเชิงเทรา จัดหน่วยแพทย์ดูแล โดยในระยะเร่งด่วนได้แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ประมาณ 10,000 ชิ้น และจัดหน่วยแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลพุทธโสธร ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2 แห่ง ที่ตำบลหนองแหน และตำบลห้วยพลู ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับการตรวจรักษา 838 ราย ส่วนใหญ่เจ็บคอ หายใจติดขัด ผื่นคันตามผิวหนัง ปวดศรีษะ มึนงง แสบจมูก ประชาชนสามารถรับบริการได้ตลอดเวลาฟรี

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการระยะยาว เนื่องจากพิษภัยของสารเคมีในระยะแรกๆ อาจพบผลกระทบไม่มาก แต่สารนี้จะสะสมในร่างกายเกิดผลในระยะยาว ที่เป็นห่วงที่สุดคือ โรคมะเร็ง โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้น ในหมู่บ้านที่ ตำบลหนองแหน 12 แห่ง พบมีการปนเปื้อนสารฟีนอล (Phenol) ในบ่อ 2 แห่ง ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง จึงให้ประชาชนงดการใช้น้ำบ่อมาอุปโภคบริโภค ให้ใช้แหล่งน้ำภายนอกที่ปลอดภัยแทน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดน้ำสะอาดมาให้ชาวบ้านใช้ และตั้งประปาบาดาล ที่ผลิตน้ำได้ 2,000 ลิตรต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบประปา โดยจะขยายผลการตรวจคุณภาพน้ำในบ่อน้ำตื้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

สธ.จะตรวจดูการปนเปื้อนสารโลหะหนักอันตราย ในประชาชน โดยดูจากปัสสาวะ และเลือด ต่อไป โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเลือด และปัสสาวะ ของประชาชนจากหมู่ 7 ตำบลหนองแหน จำนวน 140 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาแมงกานีส ตะกั่ว และ สังกะสี ในเลือด และตรวจหาโครเมียม นิกเกิล สารปรอท สารฟีนอล ตกค้างในปัสสาวะที่สำนักโรคประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้” รมช.สาธารณสุข กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน จะเพิ่มการตรวจหาสารพทาเลส(Phthalates) ซึ่งเป็นสารที่เกิดมาจากกระบวนการผลิตพลาสติก สารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน โดยจะเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดหน่วยแพทย์ดูแลด้านจิตใจเพราะปัญหากลิ่นส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดมาจากความใส่ใจของประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จะนำผลรายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเอ็กซเรย์ ปัญหาการลักลอบทิ้งสารพิษอันตรายในจังหวัดอื่นๆ ด้วยเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบ ทั้งประชาชน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม และจะเสนอแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุญาตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือการกำจัดมลพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 10-11 กันยายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ และ อสม.ในการคัดกรองการรักษาเบื้องต้น และการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาสารพิษ เพื่อที่จะสามารถวางแผนการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น