xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกผักกินแบบคนอุดมทรัพย์จากครอบครัวสู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุงชัยภัทร ย่อมสระน้อย
โดย...เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง
ศูนย์สื่อสารเพื่อสังคม

“เมื่อช่วงผักผลไม้มีราคาสูง บ้านผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรเพราะที่บ้านผมปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ไว้เยอะมีหลายประเภท ไม่ใช่เพียงแต่บ้านผมเท่านั้นนะ ผมยังปลูกผักเผื่อเพื่อนบ้านอีกด้วย หากบ้านไหนต้องการอยากได้อะไร เขาก็มาขอ มาเอาไปเลย ไม่หวง บ้านผมไม่มีรั้วหรือที่กั้น ใครที่ไม่สะดวกจะออกไปตลาดก็มาเอาที่นี่ได้” ลุงชัยภัทร ย่อมสระน้อย เจ้าของบ้านพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ตำบลอุดรทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อข้าวของราคาแพง

ไม่ใช่เพียงแต่การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคเองเท่านั้น แต่บ้านลุงชัยภัทรยังเป็น 1 ในบ้านตัวอย่างของชุมชนหรือตำบลใกล้เคียงที่สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงกระบวนการให้การผลิต รวมถึงการดูแลรักษา

นอกจากจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ตัวอย่างแก่ชุมชนตำบลใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งสำหรับตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)อีกด้วย

ลุงชัยภัทร เล่าว่า ตนมีอาชีพรับราชการ แต่ตนเป็นคนรักในการปลูกพืชผักสวนครัว เมื่อบ้านหลังเก่าถูกน้ำท่วมจึงย้ายมาปลูกบ้านที่ใหม่หรือที่อยู่ปัจจุบัน ด้านหน้าบ้านมีที่ว่างจึงคิดนำพืชผักสวนครัวมาปลูกไว้ เพื่อความสะดวก ใกล้มือ ง่ายต่อการดูแลรักษา

“อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการปลูกอะไร แล้วเราก็ไปหาเมล็ดพันธุ์มาปลูก ที่นี่ปลุกหลายอย่างแต่มีไม่มาก เน้นพืชผักที่เรากินหรือใช้ทำกับข้าวเป็นประจำ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก มะนาว ผักหวาน ใบมะกรูด เป็นต้น จะปลูกไว้อย่างมากก็ 2- 3 ต้น เพราะถ้าปลูกมากกว่านี้จะมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกพืชชนิดอื่นและอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง ช่วงเช้าก่อนไปทำงานจะรดน้ำต้นไม้สำหรับพืชที่มีรากตื้นเพราะผักเหล่านี้ต้องการน้ำมาก ส่วนพืชที่มีรากลึกประมาณ 1 อาทิตย์ถึงจะรดน้ำ”ลุงชัยภัทร กล่าว

แรงบันดาลใจหรือแนวความคิดจากการปลูกพืชผักสวนครัวในสวน กลับยกมาปลูกถึงรั้วบ้าน ลุงชัยภัทร บอกว่า นับวันคนเรายิ่งแก่ตัวลงทุกที หากจะเดินเข้าไปในสวนไกลๆเพื่อเก็บพืชผักมาประกอบอาหาร อาจจะไม่สะดวกอีกต่อไป แต่การที่เอาพืชผักสวนครัวเข้ามาไว้ในรั้วบ้าน ใกล้มือจะเด็ดผักมาประกอบอาหารเมื่อไรก็ได้ อีกอย่างอยากให้เพื่อนบ้านเขาสะดวก หากเขาต้องการอะไรก็มาเอาไปได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อไกลถึงตลาด

“ที่นี่ผมเน้นปลูกไว้เพื่อการบริโภค ไม่เน้นขาย ใครอยากได้มาเอาไปเลย ไม่หวง ตรงนี้มันก็ดีอีกอย่างที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อไกลถึงตลาด อีกทั้งเรายังสบายใจกว่าเพราะไม่ได้ใช้สารเคมีในการปลูก เราปลูกแบบธรรมชาติ อีกอย่างไม่ทราบแน่ชัดซื้อว่าที่ตลาดมีสารเคมีปนเปื้อนมากน้อยเพียงใด ที่ดีกว่านั้นมันช่วยลดรายจ่ายภายในครอบครัวไปได้เยอะ ประหยัดลงไปหลายบาท”ลุงชัยภัทร กล่าว

พืชผักสวนครัวกับการโยกย้ายจากสวน มาเพียงเอื้อมมือภายในบ้านลุงชัยภัทร ส่งผลให้ทุกคนภายในครอบครัวสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องออกไปจ่ายตลาด ในการซื้อพืชผักผลไม้มาไว้รับประทาน อีกทั้งยังสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และสามารถแก้ปัญหาได้เมื่อราคาปุ๋ยมีราคาสูงกว่าเท่าตัว

“เราไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย เพราะเราไม่ได้ปลูกพืชผักไว้ขายแต่ปลูกไว้เพื่อการบริโภค ตอนที่เกิดปัญหาราคาปุ๋ยแพง ก็ปรับเปลี่ยนเอาขี้วัวขี้ควายทำเป็นปุ๋ยคอกแทน หรือใช้น้ำยาที่กวนจากต้นกล้ามปูมารดผักแทนไม่ได้เสียเงินสักบาท หรือเรากำจัดศัตรูพืชไม่ไหวก็ตัดพืชผักทิ้งแล้วปลูกใหม่ ก็ไม่เสียหายอะไรมากนัก”ลุงชัยภัทร กล่าว

ลุงชัยภัทร ยังบอกอีกว่า “นอกจากความสุขที่ได้จากการอยู่กับครอบครัวแล้ว อีกอย่างมาจากความสุขที่ได้อยู่กับสิ่งที่รัก รวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีสิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น สุขที่ได้เห็นในผลิตผลที่เราสร้างมากับมือ สุขที่เห็นชาวบ้านเขาได้รับสิ่งที่ดีๆจากเราอีกอย่างที่สำนวนเขาบอกว่าเราซื้อเสื้อผ้ามาใหม่ก็ใส่ได้ 2-3 วันก็เก่าแล้ว แต่การปลูกต้นไม้หรือพืชผักสวนครัวสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราตลอดไป เพราะหากต้นไหนตายก็สามารถปลูกต้นใหม่เพื่อนำมาทดแทนกันได้”

นอกจากจะแบ่งปันพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียงแล้ว ลุงชัยภัทรยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนอื่นที่ต้องการนำความรู้หรือทฤษฎีการปลูกพืชผักสวนครัวไปใช้อีกด้วย

“มีชาวบ้านเขามาขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำเราก็บอกเขาได้บ้างเพียงเล็กน้อย แต่บอกอย่างเดียวคงไม่ได้หรอก ผมลงมือปฏิบัติให้เขาเห็นได้เลย เพราะการทำให้เขาดูจะดีกว่าการพูดด้วยปากเพียงอย่างเดียว”ลุงชัยภัทร กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น