xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเสนอ ครม.ต่อรองราคาดาวเทียมทางการแพทย์ 14 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ขอพิจารณาต่อรองราคา ใช้ระบบดาวเทียมทางการแพทย์ 14 จังหวัด

วันนี้ (29 ส.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดการประชุมผู้บริหาร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงต่างๆ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดน 31 จังหวัด ผู้ประสานงานสาธารณสุขชายแดนจาก 31 จังหวัด และนักวิชาการจำนวน 150 คน เพื่อชี้แจงแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดนฉบับที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม โดย นายวิทยา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ที่ สธ.จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาสุขภาพประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนใน 31 จังหวัด ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเนื่องจากที่ผ่านมาการบริการสาธารณสุขบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีความลำบาก โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากถิ่นทุรกันดานไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นไปด้วยความลำบากมาตลอด
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายวิทยา กล่าวว่า ด้วยปัญหาเหล่านี้ สธ.มีนโยบายในการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) โดยแนวทางหนึ่งนอกจากการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านทางไกลแล้ว ในกรณีพื้นที่ห่างไกลมากๆ ที่ระบบอินเทอร์เน็ตปกติอาจใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ระบบขั้นสูง คือ การใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านดาวเทียม หรือการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางช่องสัญญาณดาวเทียม ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อแบบตลอดเวลา โดยปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งมีการนำมาใช้บ้างแล้ว แต่ปัญหาคือ ต้องจ่ายค่าเช่าการใช้ระบบตกเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับโรงพยาบาลรัฐที่มีงบประมาณจำกัด ดังนั้น จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้าถึงความเป็นไปได้ว่า จะมีแนวทางอย่างไรในการขอเช่าสัญญาณในราคาถูกลงเหลือเดือนละ 1,500-2,000 บาท โดยขณะนี้ได้รวบรวมพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้มีทั้งหมด 100 กว่าจุดใน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และกาญจนบุรี คาดว่า จะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของชายแดนภาคใต้มีการดำเนินการด้านบริการสุขภาพอย่างไร นายวิทยา กล่าวว่า มีดำเนินการมาตลอดเช่นกัน โดยเน้นให้แต่ละหน่วยบริการมีบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นคนในพื้นที่ เพราะจะทำให้พูดภาษาถิ่นได้ ส่งผลให้การสื่อสารกับผู้ป่วยง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมอบหมายให้มีการจัดทำแผ่นพับคำแนะนำด้านสาธารณสุขต่างๆ เป็นภาษามลายู เพื่อคนในพื้นที่ด้วย

จริงๆ แล้วนโยบายเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการบริการตามนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท โดยจะเริ่มเรียกเก็บในวันที่ 1 กันยายนนี้ สำหรับการร่วมจ่ายครั้งนี้ไม่เพียงจะได้รับบริการที่ดี สะดวกสบายขึ้น ยังให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ในอนาคตจะขยายเรื่องการรักษาพยาบาลกรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าน้ำยาล้างช่องท้อง เพื่อให้มีราคาเดียวที่เป็นมาตรฐาน คาดว่าจะมีความชัดเจนและเสนอในบอร์ด สปสช.ได้เร็วๆ นี้ แต่ขอย้ำว่ากรณีการรักษาฟรีทั้ง 3 กองทุนคงยังไม่สามารถทำได้ทันที ต้องหารือกันอีกครั้ง” รัฐมนตรี สธ.กล่าว

อนึ่ง สำหรับ 31 จังหวัดชายแดนประเทศไทย จัดเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ความยาวรวม 5,820 กิโลเมตร เป็นพรมแดนทางบก 3,205 กิโลเมตร ทางน้ำและชายฝั่งทะเล 2,164 กิโลเมตร โดยติดกับพม่า 10 จังหวัด กัมพูชา 7 จังหวัด ลาว 12 จังหวัด และมาเลเซีย 4 จังหวัด และมีต่างด้าวข้ามมาใช้มาบริการตรวจรักษาพยาบาลในฝั่งไทยประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น