“วิทยา” โวนโยบายเร่งด่วน 1 ปีแรก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประชาชน 85% ยกให้นโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกโรค” ประสบความสำเร็จมากที่สุด
วันนี้ (18 ส.ค.) ที่ ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ ( MCC Hall ) ชั้น 3 เดอะมอลล์ นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนา “5 กองทุน 5 นโยบายรัฐ หนุนชีวิตยั่งยืน” ในงาน มันนี่เอ็กซ์โป (MONEY EXPO KORAT 2012) เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการตามนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐบาล ประกอบด้วย 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน (SML) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนตั้งตัวได้ และ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้ง 5 นโยบายภาครัฐ ได้แก่ นโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก พักหนี้เกษตรกร บัตรสินเชื่อเกษตรกรและประกันภัยพืชผลการเกษตร ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมในการจัดงาน “ รัฐบาลพบประชาชน” ในระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2555 พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นายวิทยา กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต โดยไม่เกิดภาวะล้มละลายจากค่ารักษาการเจ็บป่วย ปัจจุบันผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพมีจำนวนกว่า 48 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศ โดยได้รับการยอมรับจากนานาชาติได้แก่ องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก (World Bank) และไจก้า( JICA ) ว่าเป็นโครงการประสบผลสำเร็จ รวมทั้งรายงานการวิจัยประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545-2554) ของทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ พบว่าระบบหลักประกันสุขภาพ ช่วยป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนได้ถึง 8 หมื่นครัวเรือน และล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีข้อตกลงให้มีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพใน 10 ประเทศอาเซียนบวก 3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ โดยให้ไทยเป็นต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพและเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ด้วย
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 2,755.60 บาทต่อหัวประชากร คิดเป็น 13,000 ล้านบาท และจัดงบบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี 157,000 คน จำนวน 2,940.05 ล้านบาท ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 21,476 คน จำนวน 3,857.89 ล้านบาท ผู้ป่วยจิตเวช 111,172 คน จำนวน 181.14 ล้านบาท และงบควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 437.89 ล้านบาท โดยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานทั่วถึง และเป็นธรรม ภายใต้แนวคิดสมาร์ท เฮลท์ (SMART Health) คือ มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน มีการจัดการโรคเรื้อรัง เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม และล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลระหว่าง 3 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้ประชาชนได้รับบริการด้วยมาตรฐานเดียวกันโดยเริ่มจาก นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น” ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับบริการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องสำรองจ่าย และได้รับการรักษาจนกว่าอาการพ้นวิกฤต แล้วจึงกลับเข้าสู่ระบบปกติ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการบูรณาการงาน การเข้าถึงยาโรคเอดส์ และบริการทดแทนไตผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วน 1 ปีแรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ของนิด้าโพลล์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 85 ยกให้นโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกโรค” ประสบความสำเร็จมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ผ่านมา เป็นเรื่องการดูแลผู้เจ็บป่วยแล้ว หัวใจสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้มุ่งหวังสร้างความสำเร็จและท้าทายคือการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันคนสุขภาพดี ไม่ให้เจ็บป่วย และให้ประชาชน หน่วยงานอื่นๆทุกพื้นที่ มีส่วนร่วมพัฒนา โดยจัดงบประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท สนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น ในนาม “กองทุนสุขภาพ อบต./เทศบาล” ปัจจุบันตั้งแล้วร้อยละ 99.3 ใช้เพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพและการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่โดยตรง ดำเนินการแล้ว 188,000 โครงการ เหลืออีก 53 แห่ง ก็จะครอบทั้ง 7,718 แห่ง คาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นครบทุกแห่งภายในปี 2556 และล่าสุด ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรืออบจ.จำนวน 25 แห่ง ตั้ง “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ” เพื่อดูแลสุขภาพของคนพิการในแต่ละจังหวัดอย่างครอบคลุม มั่นใจว่า อนาคตสุขภาพคนไทยจากนี้ไปจะดีขึ้น จำนวนคนป่วยจะลดลง และคนที่ป่วยแล้วจะไดรับการดูแลรักษาที่มีมาตรฐาน