“เกย์นที” ร้องกรรมการสิทธิฯ วอนช่วยผลักดัน กม.สมรสชายรักชาย ชี้ กว่า 30 ประเทศทั่วโลกให้สิทธิ์นี้แล้ว
วันนี้ (14 ส.ค.) นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือ “เกย์นที” ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย ได้เข้าร้องเรียนต่อ นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการเลือกปฏิบัติที่เนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศ โดย นายนที กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนและ นายอรรถพล จันทวี คู่ชีวิต ที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา 19 ปี ได้ไปขอจดทะเบียนสมรส ที่ว่าการอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการขอจดทะเบียน โดยระบุว่า ผู้ร้องเป็นชายทั้งคู่ จึงไม่สามารถดำเนินการจดเบียนสมรสให้กับผู้ร้องได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 1448 และ 1458 จึงได้นำหนังสือไม่รับคำร้องดังกล่าว มาขอให้กรรมการสิทธิฯช่วยดำเนินการ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30
นายนที กล่าวว่า ตนมีความรู้สึกแรงกล้าในการที่เกิดเป็นคนไทย มีหลายคนบอกว่า ถ้าอยากจดทะเบียนทำไมไม่ไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่มีกฎหมายให้คนเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ แต่ตนก็เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศ ก็ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่มีการลิดรอนสิทธิ ให้สอดคล้องกัน
“ตอนที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องการห้ามเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางเพศ จนได้รัฐธรรมนูญมาตรา 30 ซึ่งก็เหมือนกับดวงตา แต่สิ่งที่เป็นดวงใจ ก็คือ กฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกัน หากบ้านเรามีกฎหมายฉบับนี้ เราก็จะได้เป็นอารยะ เป็นประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากศักดิ์ศรีที่เราจะได้รับแล้ว ปัญหาเรื่องปลาผิดน้ำ คือ คนที่เป็นเกย์แล้วไปหลอกผู้หญิงมาแต่งงานด้วยก็จะน้อยลง โรคเอดส์ก็จะน้อยลงด้วย เพราะเมื่อมีทะเบียนสมรสก็จะทำให้เกย์ออกนอกกรอบน้อยลง ” นายนที กล่าว
ประธานกลุ่มเกย์การเมือง กล่าวอีกว่า การมาร้องกรรมการสิทธิฯ ก็เชื่อว่า กรรมการสิทธิฯจะสามารถช่วยได้ เพราะก่อนหน้านี้ ตนก็เคยร้องกรรมการสิทธิฯในเรื่องของ ส.ด.43 เรื่องการเกณฑ์ทหาร จนกรรมการสิทธิฯผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงคำที่ระบุลงในใบ ส.ด.43 สำหรับกระเทยที่ไปเข้ารับการตรวจเลือกว่าเพศสภาพไม่ตรงกับการเกิดมาแล้ว อีกทั้งในปี 2558 ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เราก็จะวนอยู่กับที่เดิม เรื่องนี้จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก
ด้านนพ.แท้จริง กล่าวว่า จากการรับเรื่องครั้งนี้ ตนก็จะให้ทางสำนักงานฯตรวจสอบ ว่า จะสามารถดำเนินการเรื่องนี้อย่างใดบ้าง หากศึกษาดูแล้วเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อคนส่วนมาก กรรมการสิทธิฯก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าประมวลกฎหมายแพ่งฯดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่