xs
xsm
sm
md
lg

คาดปลาย ต.ค.นี้ เปิดให้เด็กขอกู้เงินกองทุนตั้งตัวได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี
คาดปลาย ต.ค.นี้ เริ่มเปิดให้เด็กขอกู้เงินกองทุนตั้งตัวได้ “กำจร” รับกองทุนเป็นส่วนหนึ่งนโยบายประชานิยม แต่ต้องใช้ความสามารถในการชำระคืนเป็นตัวตั้งของการพิจารณา ดีกว่ากองทุน กยศ. กรอ.ที่เป็นกองทุนให้เปล่าใช้คืนเมื่อมีกำลัง คาด ส.ค.นี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายฯ ที่นายกฯ เป็นประธาน จะประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน
               
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการกองทุนตั้งตัวได้ ว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายกองทุนตั้งตังได้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ มาทำหน้าที่กำหนดระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ในการขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน และหลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะต้องเร่งออกระเบียบการใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่ได้จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตลอดจนจัดตั้งสำนักบริหารงานกองทุน ซึ่งใน 1-2 ปีข้างหน้า อาจจะต้องผลักดันให้หน่วยงานนี้เป็นองค์การมหาชน นอกจากนี้ จะต้องประสานกับสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ซึ่งมีประมาณ 60 แห่งทั่วประเทศ ในการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ตรงกัน เพื่อเป็นช่องทางให้นิสิต นักศึกษา ที่มีแววที่จะเป็นผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้ามาใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว
                
อย่างไรก็ตาม คาดว่า อย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายเดือน ต.ค.หรือต้นเดือน พ.ย.นี้ จะสามารถเปิดให้นิสิต นักศึกษา สมัครเข้าขอรับสนับสนุนการเงินจากกองทุนได้ โดยเบื้องต้นผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็น นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือระดับอุดมศึกษา หรือเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส.หรืออุดมศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี และต้องมีสัญชาติไทย ส่วนจำนวนเงินที่จะได้รับการสนับสนุนนั้นขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจที่นำเสนอ ทั้งนี้ ในการดำเนินธุรกิจนั้น เด็กต้องมีเงินส่วนหนึ่งที่จะลงทุนเองด้วย ไม่ใช่มีแต่เงินจากกองทุน เท่านั้น เพื่อจะได้มีความรับผิดชอบร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีแรกอาจจะให้เป็นระยะปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้เด็กได้ลงทุนอย่างเต็มที่ จากนั้นจะให้ใช้เงินคืนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมเงินจากแหล่งการเงินอื่น
               
“หลายคนกังวลว่า กองทุนนี้จะเป็นแค่การสร้างภาพ หรือไม่ได้สร้างเด็กให้เป็นผู้ประกอบการจริง ซึ่งผมยืนยันว่า การให้โอกาสกับนักศึกษาจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ ที่ผ่านมา มีนักศึกษาบางคนในหลายมหาวิทยาลัยมีความคิดดีๆ และมีการผลิตผลิตภัณฑ์ดีๆ แต่ไม่มีโอกาสลงทุน ดังนั้น กองทุนนี้จะมาช่วยเสริม ซึ่งถ้าเด็กสามารถเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งได้ ในอนาคตเศรษฐกิจของบ้านเราก็จะเข้มแข็งเช่นกัน ส่วนที่มองว่ากองทุนนี้เป็นโครงการประชานิยมนั้น ผมว่าก็มีส่วน แต่กองทุนนี้ก็จะได้ประโยชน์แก่ลูกหลาน และยังดีกว่ากองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพราะกองทุนเหล่านี้เป็นการให้เปล่า มีกำลังเมื่อไหร่ถึงจะใช้คืน ไม่ได้มองถึงความสามารถในการชำระคืน แต่กองทุนตั้งตัวได้จะใช้เรื่องความสามารถในการชำระคืนเป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแผนธุรกิจแล้วหากพบว่าสามารถทำกำไรได้ก็จะให้รับการสนับสนุนเงิน แต่ถ้าพิจารณาแล้วทำกำไรไม่ได้ก็จะไม่สนับสนุน ดังนั้น เงินจากกองทุนนี้จะไม่สูญเปล่าแน่นอน” รศ.นพ.กำจร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น