xs
xsm
sm
md
lg

หนุน “เดินหน้าขยายเกษียณอายุ” เหตุยังมีศักยภาพทำงานได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีวิชาการหนุน “เดินหน้าขยายเกษียณอายุ” เหตุยังมีศักยภาพ ความสามารถทำงานได้ แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร หลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ด้าน “ก.พ.” เผยแนวโน้มเดินหน้าขยายบางสายวิชาชีพ บางตำแหน่งขาดแคลนก่อน ชี้รัฐได้ประโยชน์ แถมแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ดร.ยงยุทธ แล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีวิชาการมโนทัศน์ใหม่ผู่สูงอายุ เรื่อง “เกษียณอายุราชการ 65 ปี ถึงเวลาแล้วหรือยัง” จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการทำงานวิจัย “ทำไม่ต้อง 65 ปี ใครได้ ใครเสีย” พบว่า ที่ผ่านมา ในกลุ่มข้าราชการสูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป มีการเกษียณอายุออกจากระบบราชการมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 83 ซึ่งหากมีการขยายการเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี จะสามารถชะลอ หรือช่วยลดคนออกจากราชการลงได้ประมาณ10,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มคนทำงานในระบบมากขึ้นหรือประมาณ 2% ในช่วง 5 ปี แต่ยอมรับว่า จะส่งผลให้การจ้างงานข้าราชการใหม่ลดลง อย่างไรก็ตามจะช่วยชะลอการจ่ายเงินของ กบข.ลงได้ รวมไปถึงการการจ่ายเงินบำเหน็ดบำนาญ เฉลี่ยเม็ดเงินที่ชะลอการจ่ายในช่วง 5 ปี อยู่ที่ 30,000 บาท 
ทั้งนี้ เมื่อดูโครงสร้างภาพรวมข้าราชการพลเรือนจะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปี จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนข้าราชการใหม่ลดลงจากนโยบายจำกัดกำลังคน แต่การจะขยายอายุเกษียณราชการควรดำเนินการในบางกระทรวง บางสายงานเท่านั้น เพราะแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน ซึ่งในบางกระทรวงที่มีการจัดตั้งมานาน อย่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ทำให้มีสัดส่วนข้าราชการสูงอายุจำนวนมาก แต่ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศไม่เป็นปัญหา ข้าราชการส่วนใหญ่มีอายุไม่มาก หรืออาจจะดูขยายเฉพาะในบางสายงานที่ขาดแคลน อย่าง สายช่าง โยธา ที่ขาดแคลนมาก

อย่างไรก็ตาม ในการขยายอายุเกษียณราชการ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็น
ด้วยให้เหตุผลว่า ยังเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพที่จะทำงานได้ และยังเป็นการชะลอการจ่ายเงินบำเหน็ด บำนาญ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ต่างเห็นว่า คนผู้สูงอายุทำงานช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการปิดกั้นโอกาสและตำแหน่งให้คนรุ่นใหม่เข้าทำงานแทน

ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ภาควิชาปรัชญาและศูนย์จริยธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการทำรายงานวิจัย การพัฒนาดัชนีการเกษียรอายุของราชการและพนักงานของรัฐ ชี้ว่าประเทศไทยขณะนี้มีความจำเป็นต้องขยายอายุเกษียณข้าราชการและพนักงานของรัฐในทุกกระทรวง โดยเพิ่มเป็น 65 ปี เนื่องจากคนกลุ่มนี้ ยังมีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทำงาน ทั้งสายวิชาการ แพทย์ สายงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งในมุมมองภาคราชการหากปล่อยให้คนทำงานเหล่านี้ออกจากราชการทั้งที่ความสามารถยังเต็มเปี่ยม และให้เงินบำนาญไปเฉยๆ ถือเป็นการเสียเปล่าของผู้จ้างงาน อีกทั้งคน 60 ปี ในปัจจุบันดูไม่แก่ และหลายคนยังมีสุขภาพที่ดีจากระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีขึ้น ยกเว้นในกลุ่มที่ต้องใช้แรงงาน ตำรวจที่ต้องจับผู้ร้าย ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะเกษียณ 60 ปีได้

นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นด้านประชากรศาสตร์ เพราะคนเกิดใหม่ลดลงส่งผลให้คนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่งานในระบบลดลง จึงต้องขยายอายุเกษียณเพื่อให้จำนวนคนทำงานมากขึ้น และไม่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนน้อยกว่าต้องแบกรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้น

นายจาดุร อภิชาตบุตร อดีตนายกสมาคมข้าราชการพลเรือน กล่าวว่า บอกไม่ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบกับการขยายเกษียณอายุ แต่เชื่อว่า หากทำจริงจะไม่มีการคัดค้าน เพียงแต่ต้องมีการวางกระบวนการผ่องถ่ายให้ดีก่อน ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสที่มีการเดินขบวนประท้วงรุนแรง ทั้งจากลุ่มที่ไม่ต้องต่ออายุราชการกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลัวตกงาน เพราะมีการใช้เงินเป็นตัวตั้งในการดำเนินนโยบาย แต่สำหรับประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่า อย่างการจัดตั้งกองทุน กบข.และควรนำประโยชน์จากงานที่จะได้รับจากการต่ออายุเกษียณมาเป็นตัวตั้ง แต่ต้องให้ความเป็นธรรมในการต่ออายุเกษียณด้วย พร้อมกันนี้ยังต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายเออร์ลีรีไทร์

รศ.ดร.นางมัทนา พนานิรามัย ข้าราชการบำนาญ กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าต้องขยายอายุเกษียณราชการ และถึงเวลาต้องดำเนินการ แต่ก่อนดำเนินการต้องดูให้รอบด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ต้องดูจำนวนแรงงานในระบบ ซึ่งหากมีมากไปก็ไม่ดี แต่หากขาดแคลนก็จะส่งผลกระทบ แต่มีดูภาพรวมขณะนี้เชื่อว่าน่าจะขาดแคลน สวัสดิการผู้สูงอายุและรายได้ที่ลดลง รวมไปถึงเงินสะสมของผู้สูงอายุที่แม้ว่าจะมีเงินสะสมอยู่ แต่ค่าของเงินก็ลดลงทุนปี รวมไปถึงภาระทางการคลัง

นพ.วันชาติ ศุภจตุรัส นายกแพทยสมาคม ข้าราชการเกษียณอายุวัย 72 ปี กล่าวว่า การขยายอายุเกษียณทำได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของข้าราชการแต่ละคนว่าเขาอยากจะทำงานต่อหรือไม่ แต่อย่าออกเป็นกฎระเบียบบังคับ เพราะยังมีคนบางกลุ่มไม่อยากทำ นอกจากนี้ ควรต้องมีระบบประเมินแต่ละปี เพื่อให้เขาตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาทำต่อเนื่อง 5 ปี นอกจากนี้ ควรกำหนดตำแหน่งให้ชัดเจน เพราะต้องคำนึงถึงเด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานแทน ไม่ใช่กลายเป็นการปิดโอกาสการทำงานและความก้าวหน้า

นางสาวนงนาท เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาพนักงานบุคคล สำนักคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กล่าวว่า การขยายอายุเกษียณราชการถึงเวลาที่ต้องทำแล้ว แต่จะทำแบบไหน รวมไปถึงการขยายอายุเกษียณที่เหมาะสมยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาก่อน ซึ่งในหลายประเทศขยายไปอยู่ที่ 65 ปี อีกทั้งในภาพความเป็นจริง มีเพียงแค่บางตำแหน่งเท่านั้นที่ขาดแคลน ดังนั้น การขยายอายุเกษียนเพียงบางตำแหน่ง บางสายวิชาชีพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการเปิดขยายไปบ้างแล้ว อย่าง แพทย์ วิศวะ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ รวมไปถึงนักกฎหมาย และสายศิลปะ โดยเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ซึ่งทางเลือกนี้เห็นว่าภาคราชการน่าจะได้ประโยชน์ เพราะจะได้กลุ่มคนที่ขาดแคลนจริงๆ ดังนั้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการสุรปว่า มีสายวิชาชีพใดบ้างที่ต้องทำการขยายอายุเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น