วธ.ปัดฝุ่นงานวิจัยประวัติศาสตร์ 3 จ.ชายแดนภาคใต้ เติมส่วนที่ขาดหายไป พร้อมใช้มิติวัฒนธรรมช่วยดับไฟใต้
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตนได้ร่วมประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยที่ประชุม ประกอบด้วย นักวิชาการประวัติศาสตร์ ปราชญ์ท้องถิ่น นักวิชาการกรมศิลปากร มีความเห็นร่วมกัน ว่า ผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 3 ชายแดนภาคใต้ ที่กรมศิลปากร ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2550 นั้น ยังมีบางส่วนไม่สมบูรณ์ จึงมอบหมายให้นักวิชาการไปดำเนินการปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวพุทธและชาวจีน ที่อยู่ในพื้นที่เพิ่มเติม เนื่องจากงานวิจัยได้มีการรวบรวมวิถีชีวิตของชาวมุสลิมเพียงอย่างเดียว หากมีวิถีชีวิตของอีก 2 ส่วนประกอบก็จะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การแสดงท้องถิ่นนั้น มีบางส่วนที่กำลังสูญหาย ดังนั้น ในปีงบประมาณปี 2556 วธ.จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ทันที โดยจะส่งเสริมภูมิปัญญา การแสดงท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายให้ฟื้นกลับคืนมาในพื้นที่ รวมทั้งที่ประชุมยังมอบหมายให้นักวิชาการไปดำเนินหาข้อมูล ว่า การแสดงท้องถิ่น ประเภทไหนที่มีชาวพุทธ และมุสลิม เล่นร่วมกัน รวมถึงการแสดงประเภทไหนที่ปัจจุบันไม่ให้ผู้หญิงแสดง แต่สมัยก่อนผู้หญิงแสดงได้ ก็ควรมีการศึกษาให้ถูกต้อง เพื่อนำมาประกอบเป็นข้อมูลให้ วธ.ส่งเสริมการแสดงท้องถิ่นเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป
“ในที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกต ว่า ประวัติศาสตร์อาณาจักรลักกาสุกะขาดหายไป ควรเพิ่มเติมในส่วนนี้ รวมทั้งข้อมูลรายชื่อสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บางส่วน ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ ควรต้องปรับปรุงให้ถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งต้องมีเอกสารอ้างอิงต่างๆ มาเทียบเคียงให้ประวัติศาสตร์เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การทบทวนข้อมูลงานวิจัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ น่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ และจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง เมื่อที่ประชุมเห็นชอบข้อมูลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์และการใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดขึ้น”นายสมชาย กล่าว